ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019 Novel Coronavirus, 2019-nCoV)
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019 Novel Coronavirus, 2019-nCoV)

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019 Novel Coronavirus, 2019-nCoV)
บทความ โดย ผศ.ดร.ยิ่งมณี ตระกูลพัว
สาขาวิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 
29 มกราคม 2563             
            เชื้อไวรัสโคโรนา (Coronaviruses) จัดอยู่ใน Family Coronaviridae มีขนาด 120–160 นาโนเมตร กรดนิวคลีอิกเป็นอาร์เอ็นเอสายบวก แคปซิดโปรตีนที่ห่อหุ้มมีลักษณะเป็นเกลียว มีเปลือกเอนเวโลปหุ้มด้านนอก และมีปุ่ม (spikes) ยื่นออกมาจากเอนเวโลป ดังนั้นอนุภาคไวรัสจึงมีลักษณะเหมือนมงกุฎ เมื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ไวรัสในกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 4 จีนัส ได้แก่ Alphacoronavirus, Betacoronavirus, Gammacoronavirus และ Deltacoronavirus โดยไวรัสโคโรนาที่สามารถติดเชื้อในคนมี 7 ชนิด ได้แก่ สายพันธุ์ 229E, NL63 ซึ่งอยู่ในจีนัส Alphacoronavirus ส่วนเชื้อไวรัสที่อยู่ในจีนัส Betacoronavirus ได้แก่ สายพันธุ์ OC43, HKU1, Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV), Severe acute respiratory syndrome coronavirus (SARS-CoV) และชนิดที่ 7 คือ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019 Novel Coronavirus, 2019-nCoV)

เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถติดต่อจากสัตว์ เช่น แมว อูฐ และค้างคาว มายังคนได้ (zoonotic infection) ในกรณี SARS-CoV มีการติดต่อจากค้างคาวผ่านทางชะมด ส่วน MERS-CoV มีการติดต่อจากค้างคาวผ่านทางอูฐมาสู่คน โดยทั่วไปเชื้อไวรัสโคโรนาก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 229E, NL63, OC43 และ HKU1 ก่อโรคหวัดธรรมดาในคน ดังนั้นไวรัสโคโรนาสามารถทำให้เกิดอาการของโรคตั้งแต่หวัดธรรมดา จนถึงมีอาการรุนแรง เช่น Severe acute respiratory syndrome โดย SARS-CoV พบในประเทศจีนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 และมีการระบาดในหลายประเทศ ในปี พ.ศ.2545-2546 จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่ามีผู้ติดเชื้อสาเหตุของโรคซาร์สทั่วโลกจาก 29 ประเทศ จำนวน 8,098 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 774 ราย ส่วน MERS-CoV มีรายงานการติดเชื้อครั้งแรกในประเทศซาอุดิอาระเบียใน ปี พ.ศ. 2555 และติดเชื้อแพร่กระจายในประเทศแถบตะวันออกกลาง มีรายงานการติดเชื้อจำนวน 2,494 คน และเสียชีวิตจำนวน 858 คน โดย SARS-CoV และ MERS-CoV ทาให้การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10% และ 30% ตามลำดับ

ส่วนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) มีข้อมูลรายงานจากประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งได้มีการตรวจพบครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) มณฑลหูเป่ย (Hubei) ประเทศจีน โดยพบว่าผู้ป่วยมากกว่า 40 ราย มีอาการป่วยรุนแรงรักษาในโรงพยาบาลอีกหลายราย โดยมีอาการหนัก 5 ราย และเสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทำงานในตลาดหรือมีประวัติเดินทางไปที่ตลาด South China Seafood Market ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีการค้าสัตว์หลายชนิด เช่น นก ไก่ฟ้า งู และสัตว์ป่าอื่น ๆ ขณะนี้ตลาดดังกล่าวได้มีการจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และถูกปิดแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 รายงานจากองค์การอนามัยโลกในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563 พบผู้ป่วยยืนยันในประเทศจีนกระจายเกือบทุกเมืองจำนวน 4,537 ราย อาการรุนแรง 976 ราย เสียชีวิต 106 ราย และมีรายงานผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก จำนวนทั้งสิ้น 4,593 ราย โดยพบผู้ป่วยยืนยันนอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ จำนวน 56 ราย ใน 14 ประเทศ เนื่องจากไวรัสชนิดนี้เป็นเชื้ออุบัติใหม่ที่ประชากรยังไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงทำให้มีอัตราการตาย และการระบาดเพิ่มขี้น ดังนั้นเชื้อส่วนไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จึงจัดเป็นเชื้ออันตรายในระดับ 3 (risk goup 3) การเพาะเลี้ยงต้องปฏิบัติงานในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 (BSL-3) ส่วนงานด้านการวิเคราะห์ด้านชีวโมเลกุลควรปฏิบัติงานในห้องชีวนิรภัยระดับ BSL-2 plus หรือ BSL-2 enhanced และต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองครบถ้วน

เมื่อมีการตรวจพบผู้ป่วยจากเมืองอู่ฮั่น ที่เดินทางมาประเทศไทยในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2563 ว่ามีไข้สูง ร่วมกับอาการเจ็บคอและมีน้ำมูก จึงถูกแยกมาสังเกตอาการที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อส่งเชื้อไวรัสไปตรวจรหัสพันธุกรรมที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) โดยเชื้อไวรัส 2019-nCoV นี้มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่พบในค้างคาวมากที่สุด (Bat SARS-like Coronavirus) ประมาณ 82-90% เป็นค้างคาวมงกุฎซึ่งพบในจีน 2 สปีชีส์ คือ ค้างคาวเกือกม้าของจีน (Rhinolophus sinicus) และค้างคาวมงกฎยอดสั้นเล็ก (Rhinolophus thomast) ซึ่งเป็นค้างคาวที่พบในไทยด้วย และเมื่อเปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ทางการจีนเปิดเผยเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2563 พบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ไทยถอดรหัสพันธุกรรมสาเร็จมีรหัสพันธุกรรมตรงกัน 100% เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อู่ฮั่น จึงเป็นไปได้ว่าค้างคาวจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้เกิดปอดอักเสบ (pneumonia) จากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอด และเนื้อเยื่อโดยรอบ อาการสำคัญ ได้แก่ มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้มีมาตรการเฝ้าระวังคัดกรอง และป้องกันควบคุมโรค ปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาในประเทศไทย โคโรนาไวรัสจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2 ถึง 7 วัน จึงมีการเฝ้าสังเกตอาการหลังสัมผัสโรค หรือมาจากแหล่งระบาดของโรคเป็นเวลา 14 วัน วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบผู้ป่วยจานวน 14 ราย ส่วนผู้ป่วยที่หายดีและตรวจไม่พบเชื้อกลับบ้านแล้ว 5 ราย ขณะนี้เหลืออีก 9 รายที่ยังคงรับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นข้อมูลด้านรหัสพันธุกรรม และลักษณะการติดเชื้อไวรัสจึงมีประโยชน์เพื่อนาไปพัฒนาวิธีการป้องกัน และรักษาเชื้อไวรัสต่อไป

ข้อแนะนำในการป้องการติดเชื้อ เนื่องจากยังไม่มียา และวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด รักษาร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง ออกกาลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน และเมื่อมีอาการไอ จาม หลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์ และไม่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วยหรือตาย และหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา และไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจชนิดอื่น

เอกสารอ้างอิง
พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ. 2563. Molecular diagnosis สาหรับไวรัสอู่ฮั่น. สมาคมไวรัสวิทยา(ประเทศไทย)
    เข้าถึงได้จาก http://thaiviro.org/site/ (28 มกราคม 2563)
ยง ภู่วรวรรณ. 2563. ความจริง 20 ประการ เกี่ยวกับโรคปอดบวม “อู่ฮั่น โคโรนา” ไวรัสสายพันธุ์ใหม่.
    เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1922486 (27 มกราคม
2563)
ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค. 2563. โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019.
   เข้าถึงได้จาก https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php (28 มกราคม 2563)
สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี. 2563. นักเทคนิคการแพทย์ ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสในค้างคาวไทย ตรง “อู่ฮั่น”.
   เข้าถึงได้จาก https://medtechtoday.org/25012020-2/ (25 มกราคม 2563)
Centers for Disease Control and Prevention. 2020. 2019 Novel Coronavirus, Wuhan, China.
   Available: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/index.html (28 January 2020)
World Health Organization. 2020. Novel Coronavirus (2019-nCoV) situation reports. Available:
   https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/situation-reports
(28 January 2020)
Zhu, N., Zhang, D., Wang, W., Li, X., Yang, B., Song, J., Zhao, X., Huang, B., Shi, W., Lu, R., Niu, P.,
   Zhan, F., Ma, X., Wang, D., Xu, W., Wu, G., Gao, G. F. and Tan, W. 2020. A Novel
   coronavirus from patient with penumonia in China, 2019. The New England Journal of
   Medicine. DOI: 10.1056/NEJMoa2001017.
 


วันที่ : 29 ม.ค. 2020





ผศ.ดร.ยิ่งมณี ตระกูลพัว สาขาวิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว