สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้บริหาร สดร.- มช. และนักวิจัย เฝ้าทูลละอองพระบาท ก่อนเดินทางไปศึกษาวิจัยรังสีคอสมิกที่แอนตาร์กติกา

         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้บริหาร จาก สดร.- มช. และคณะนักวิจัย เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบถวายบังคมลา และรับพระราชทานพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนเดินทางไปศึกษาวิจัยรังสีคอสมิกที่แอนตาร์กติกา ภายใต้โครงการวิจัยการสำรวจตัดข้ามละติจูดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

ชมคลิป http://news.ch7.com/detail/307835

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศ.ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มช. ผู้บริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และคณะนักวิจัยที่จะเดินทางไปศึกษาวิจัยและติดตามการทำงานของคอนเทนเนอร์ช้างแวน (Changvan)  ซึ่งติดตั้งบนเรือตัดน้ำแข็ง Xue Long ที่ใช้เดินทางไปทวีปแอนตาร์กติก เพื่อศึกษาวิจัยผลกระทบของรังสีคอสมิกที่มีต่อโลก เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบถวายบังคมลา และรับพระราชทานพรเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
 
การเดินทางของนักวิจัย พร้อมคอนเทนเนอร์ช้างแวนในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยการสำรวจตัดข้ามละติจูด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สดร. และ มช. ที่ได้ส่งข้อเสนอต่อสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีนในปี 2561 เพื่อศึกษาผลกระทบของรังสีคอสมิกต่อโลก และได้รับอนุมัติให้นำตู้คอนเทนเนอร์ติดตั้งบนเรือสำรวจวิจัย Xue Long หรือ “เรือมังกรหิมะ” ออกเดินทางเก็บข้อมูลจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธาณรัฐประชาชนจีน ไปยังสถานีวิจัยจงซาน (Zhongshan) ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกา 
 
โดยตู้คอนเทนเนอร์ติดตั้งเครื่องตรวจวัดนิวตรอนเพื่อใช้ในการวิจัยชื่อว่า “ช้างแวน” (Changvan) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ภายในช้างแวนติดตั้งเครื่องมือวิจัย มีระบบควบคุมอุณหภูมิภายในให้คงที่ และมีการออกแบบให้เหมาะสมกับการเดินทางทางเรือในอุณหภูมิติดลบ 
 
ซึ่งโครงการวิจัยการสำรวจตัดข้ามละติจูดนี้ มีอาจารย์ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มช. เป็นหัวหน้าโครงการ และนักดาราศาสตร์ไทยเพียงหนึ่งเดียวที่จะร่วมเดินทางไปขั้วโลกใต้ คือ นายพงษ์พิจิตร   ชวนรักษาสัตย์ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 
 
ทั้งนี้ เรือสำรวจวิจัยมีกำหนดเดินทางออกจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีนไปยังทวีปแอนตาร์กติกา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 และจะเดินทางกลับสู่เมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง ในวันที่ 10 เมษายน 2562 รวมระยะเวลาการเดินทางทั้งหมด 5 เดือน
 
>> อ่านข่าว มช. จับมือ สดร. เดินหน้าโครงการดาราศาสตร์ขั้วโลก ส่งนักดาราศาสตร์ศึกษารังสีคอสมิกที่แอนตาร์กติกา http://www.science.cmu.ac.th/prsci/news-detail.php?id=3135#.W8bv6WgzaUl
.
Cr. ภาพและคลิป จาก http://news.ch7.com/detail/307835


วันที่ : 17 ต.ค. 2018