กิจกรรมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น โดยการสนับสนุนจาก วช.

อาจารย์คณะวิทย์ มช. และ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ นำเสนอผลงานวิจัย “ระบบพลาสมาเย็นเพื่อการประยุกต์ใช้ในงานการแพทย์และทันตกรรม” และ “การวิเคราะห์และการปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าพลอยเซฟไฟร์สีน้ำเงินธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีลำไอออน” โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช.

รองศาสตราจารย์ ดร. สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของผลงานวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านการแพทย์และอุตสาหกรรมอัญมณี โดยมีคณะผู้วิจัยและผู้แทนจาก วช. ร่วมนำเสนอรายละเอียดโครงการวิจัย

โครงการวิจัย “ระบบพลาสมาเย็นเพื่อการประยุกต์ใช้ในงานการแพทย์และทันตกรรม” (Cold Atmospheric Plasma System for Medical and Dental Applications) มีรองศาสตราจารย์ ดร. ธีรวรรณ บุญญวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มช. เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยทำวิจัยร่วมกับทีมวิจัยจากคณะทันตแพทยศาสตร์ มช. และคณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งภายหลังจากการทำวิจัยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556-ธันวาคม 2557 คณะวิจัยสามารถสร้างระบบเจ็ทพลาสมาเย็นความดันบรรยากาศ เพื่อใช้ฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียสำหรับงานทันตกรรม และสามารถสร้างระบบพลาสมาเย็นแบบสัมผัสเพื่อใช้ในการฟื้นฟูสภาพผิวพรรณ ที่มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ทั้งด้านไฟฟ้า พลังงาน และแสงยูวี

สำหรับระบบพลาสมาเย็นแบบสัมผัสในการฟื้นฟูสภาพผิวที่เสื่อมสภาพตามวัยนั้น จากการทดสอบกับอาสาสมัคร 2 กลุ่ม พบว่ากลุ่มที่ใช้พลาสมาเย็นแบบสัมผัสร่วมกับครีมบำรุงผิวหน้าสมุนไพร Emblica Plus® มีประสิทธิภาพในการรักษาผิวหน้า ทั้งในเรื่องของความตึงผิว ความเรียบเนียน ความขาว และสภาพผิวโดยรวม ดีกว่ากลุ่มที่ใช้พลาสมาเย็นเพียงอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่าพลาสมาเย็นแบบสัมผัสช่วยให้การซึมผ่านของครีมเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ดีขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

ส่วนโครงการวิจัย “การวิเคราะห์และปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าพลอยแซฟไฟร์สีน้ำเงินธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีลำไอออน” (Ion Beam Technology for Analysis and Modification of Natural Blue Sapphire) ซึ่งมีอาจารย์ ดร. ดวงแข บุตรกูล จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ทำวิจัยร่วมกับ ดร.เสวต อินทรศิริ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุดมรัตน์ ทิพวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มช. และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557-กันยายน 2558 จากผลการวิจัยพบว่าการปรับปรุงคุณภาพพลอยแซฟไฟร์สีน้ำเงินธรรมชาติ ด้วยเทคนิคไออนอิมพลานเตชัน สามารถทำให้พลอยมีสีสวยสด เนื้อพลอยสะอาด ลดความขุ่นมัว ทำให้พลอยหลังการเจียระไนมีความสดใสแวววาวมากขึ้น เพราะไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับเนื้อพลอย เพราะเป็นการให้พลังงานสูงแต่อุณหภูมิต่ำ เมื่อนำไปประกอบตัวเรือนเครื่องประดับก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถเป็นรากฐานในการนำเทคโนโลยีลำไอออนไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยต่อไป

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ 
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โทร. 02 579 9775, www.nrct.go.th


วันที่ : 17 ก.พ. 2016





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว