การตรวจประเมินสถานประกอบการรอบที่ 2 เพื่อพัฒนาการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสินค้า OTOP

   อาจารย์สาธิต ปิยนลินมาศ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการพัฒนาเกณฑ์การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้า OTOP ในเขตภาคเหนือตอนบน ได้ทำกิจกรรมบริการสังคมและชุมชน โดยการเข้าตรวจเยี่ยมการผลิตในโรงงานระดับหมู่บ้าน ในเขตภาคเหนือตอนบน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม และ 4-6 สิงหาคม 2558 โรงงานระดับหมู่บ้านที่เข้าตรวจเยี่ยมประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 กลุ่มทำเครื่องจักสานและผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยแพรวพรรณกระจูด ประเทืองเครื่องเขิน และชวาวาด (พะเยา) กลุ่ม 2 เป็นสินค้า OTOP ประเภทสิ่งทอและการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประกอบด้วย KhunJack นพรัตน์สิ่งทอ สมบรูณ์สิ่งทอ ผ้าย้อมสีธรรมชาติอิ่มบุญ (พะเยา) และกลุ่มตัดเย็บผ้าเสื้อผ้าสันมะนาว  โดยกรรมการรวมทั้งหมด 8 ท่าน ได้พบผู้ประกอบการและประเมินการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิต (total production cycle) ตั้งแต่ต้นน้ำ (up‐stream) คือการนำวัตถุดิบท้องถิ่น พลังงาน และแรงงานคนมาใช้ ขั้นตอนการผลิต ขั้นตอนการตรวจคุณภาพการผลิตจนกระทั่งได้สินค้าที่ปลายน้ำ (down‐stream) และการส่งถึงมือผู้ซื้อโดยตรงแบบค้าปลีก (retailer) และค้าส่ง (whole seller) ใช้บรรจุภัณฑ์ โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขั้นตอนประกอบด้วย 7 หมวด คือ 1) นโยบายและการวางแผนการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2) การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้วัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ 3) การจัดการกระบวนการผลิต (production management) 4) การจัดการผลิตภัณฑ์ 5) มาตรการด้านชีวอนามัยและความปลอดภัย (occupational safety)  6) การจัดการของเสีย (waste management) 7) การอนุรักษ์ทรัพยากรและพลังงาน (resource and energy conservation) ซึ่งเป็นการจัดการแบบองค์รวมและบูรณาการให้การผลิตสินค้า OTOP มีมาตรฐาน และมีโอกาสส่งออกต่างประเทศได้ จากการทำงานพบว่าโรงงานชุมชนและหมู่บ้านยังขาดการจัดการและความเข้าใจทั้งเชิงเทคนิคและวิทยาศาสตร์ที่ต้องพัฒนาอีกหลายด้าน


วันที่ : 14 ส.ค. 2015





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว