ปตท.สผ. และ มช. ร่วมกันจัดตั้งหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาธรณีฟิสิกส์ปิโตรเลียมแห่งแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย มุ่งผลิตและพัฒนานักธรณีฟิสิกส์ที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โดยนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และศาสตราจารย์ ดร. วัชระ กสิณฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาธรณีฟิสิกส์ปิโตรเลียม (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยผู้บริหารร่วมเป็นเกียรติในพิธีฯ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2557 ณ บริเวณชั้น 4 อาคารวิทยาศาสตร์ 3 (SCB3) ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลง “COOPERATIVE INSTITUTE FOR PETROLEUM GEOPHYSICS PROGRAM BETWEEN PTT EXPLORATION AND PRODUCTION PUBLIC COMPANY LIMITED AND CHIANG MAI UNIVERSITY” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555ปตท.สผ. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาหลักสูตรที่เน้นการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างทักษะการปฏิบัติงาน บรรจุด้วยเนื้อหาวิชาและเทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์ที่ทันสมัย และใช้อยู่ในอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปัจจุบัน โดยภายในระยะเวลา 18 เดือน นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากคณาจารย์ประจำหลักสูตรควบคู่ไปกับคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงจากสถาบันและมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยลีดส์ จากสหราชอาณาจักร เป็นต้น ในช่วง 5 ปีแรก ระหว่างปี 2557-2562 ปตท.สผ. จะให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อใช้ดำเนินการจำนวน 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 176 ล้านบาท ซึ่งในปีการศึกษาแรกนี้ หลักสูตรฯ จะผลิตมหาบัณฑิตรุ่นแรกได้จำนวน 12 คน จากทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช กล่าวว่า “ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความยากและความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมที่มีปริมาณลดน้อยลง ความซับซ้อนทางด้านธรณีวิทยามีเพิ่มขึ้น เพราะมีการผลิตมาเป็นระยะเวลานาน ปตท.สผ. เห็นว่าองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านธรณีฟิสิกส์เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขความชัดเจนของภาพชั้นหิน และลักษณะธรณีวิทยาใต้พื้นโลก ช่วยให้นักธรณีฟิสิกส์สามารถวิเคราะห์ศักยภาพการเกิดแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างแม่นยำขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการสำรวจค้นหาและการเพิ่มผลผลิตปิโตรเลียม ที่ปัจจุบันยังไม่มีหลักสูตรธรณีฟิสิกส์ที่มีเนื้อหาวิชาเกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยตรงเปิดสอนภายในประเทศ ดังนั้น ปตท.สผ.จึงมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวและเปิดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรประจำขึ้นภายในประเทศสำหรับเป็นแหล่งผลิตและพัฒนานักธรณีฟิสิกส์ที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการบุคคลากรด้านนี้ทั้งในและต่างประเทศ และเห็นว่าภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานและประสบการณ์การเรียนการสอน สาขาธรณีฟิสิกส์ในระดับที่จะสามารถพัฒนาและเปิดการสอนหลักสูตรตามที่ ปตท.สผ. ประสงค์ได้”
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. วัชระ กสิณฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "ปตท.สผ. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สนับสนุนและร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตรและผลิตบัณฑิตทางด้านธรณีศาสตร์ และธรณีฟิสิกส์ให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมตลอดหลายปีที่ผ่านมา และได้เห็นถึงการขาดแคลนบุคลากรในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม จึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาธรณีฟิสิกส์ปิโตรเลียม (หลักสูตรนานาชาติ) มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนั้น ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการทำงานด้านงานวิจัยให้สูงขึ้นด้วย ในนามของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอขอบคุณ ปตท.สผ. ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาดังกล่าว รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อให้หลักสูตรดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอขอบคุณคณะวิทยาศาสตร์ ที่ให้ความอนุเคราะห์ในสถานที่เพื่อการเรียนการสอนและงานวิจัย ขอขอบคุณบุคลากรทั้งจาก ปตท.สผ. และจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจนกระทั่งการจัดทำหลักสูตรแล้วเสร็จ และได้เปิดดำเนินการเรียนการสอนในภาคการศึกษานี้”
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นโอกาสและความสำคัญของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเลียมของไทย ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การทำงานและการแข่งขันในระดับสากล ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หลักสูตรธรณีฟิสิกส์ปิโตรเลียม ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5394 3417 - 9 ต่อ 3451โทรสาร 0 5394 3444, 0 5389 2261
วันที่ : 2 ต.ค. 2014