ห้องปฏิบัติการวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU)

ห้องปฏิบัติการวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กรมป่าไม้ โดยการสนับสนุนทางวิชาการจากหน่วยงานต่างประเทศหลายหน่วยงาน ปัจจุบันนักวิจัยประจำโครงการ FORRU สามารถปลูกต้นไม้ที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมได้มากกว่า 350 ชนิด รวมทั้งได้เก็บภาพถ่ายและติดตามศึกษาบันทึกข้อมูลด้านต่าง ๆ เพื่อใช้ในยามที่ต้องการ นอกจากนั้นยังได้พัฒนาวิธีการปลูกต้นกล้าอ่อนให้ได้ผลดียิ่งกว่าเดิม ทั้งนี้สถานที่ทดลองของ FORRU คือหมู่บ้านชาวม้ง บ้านแม่สาใหม่ และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 ชาวม้งได้รวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งสถานอนุบาลพืชป่า โดย FORRU ได้ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มในการนำเทคนิคใหม่ ๆ ถ่ายทอดให้แก่ชุมชนแห่งนี้อยู่เสมอ ต้นกล้าที่ได้จากสถานอนุบาลจะถูกนำไปปลูกในพื้นดินที่ถูกน้ำกัดเซาะแถวหมู่บ้านแห่งนั้น ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการปลูกป่ากาญจนาภิเษก นอกจากนั้น FORRU ยังเป็นสถานที่ให้บริการทางด้านการศึกษา โดยได้จัดฝึกอบรมแก่หน่วยงานภาครัฐ, องค์กร NGO, ครูโรงเรียต่าง ๆ รวมทั้งชาวบ้านผู้สนใจทุกระดับ

ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ FORRU ได้รับความอนุเคราะห์จาก The National History Museum ประเทศอังกฤษโดยส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้าน seedling taxonomy และ morphology คือคุณ Nancy Garwood มาช่วยเหลืองานทางด้านการจัดทำคู่มือเพื่อการบ่งบอกพันธุ์ต้นกล้าพืชและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบและจัดการสถานอนุบาลพืช คือคุณ David Blakesley จากมหาวิทยาลัยบาธ (Bath University) ประเทศอังกฤษ มาช่วยในการจัดอบรมเกี่ยวกับการอนุบาลพืชครั้งแรกที่เชียงใหม่ นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านยังมีส่วนช่วยเหลือในเรื่องการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารสากล รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งทุนวิจัยต่าง ๆ อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น The British Council ได้มีส่วนในการให้ความสนับสนุนแก่ FORRU โดยสนับสนุนเงินจำนวนหนึ่งในการจัดฝึกอบรมตลอดจนจัดซื้อตำราภาษาอังกฤษอันเป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรของ FORRU ได้เป็นอย่างดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทาง FORRU ได้ส่งนักวิจัยของโครงการไปร่วมฝึกอบรมที่ Lake Eacham Regional Nursery ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ ทางด้านการฟื้นฟูป่า โดยผู้ดูแลคือคุณ Nigel Tucker ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานด้านนี้คนหนึ่งของโลก FORRU คาดหวังว่าจะนำเทคนิคต่าง ๆ ที่เรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ทางภาคเหนือของไทยในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้การสนับสนุนได้รับความกรุณาจาก International Tropical Timber Organization

/ / ความร่วมมือกับต่างประเทศ / กิจกรรมภายใต้ความร่วมมือกับต่างประเทศ