การประกันคุณภาพการศึกษา

 


การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ ในรอบปี 2544 ที่ผ่านมา ได้มีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นหลายกิจกรรม ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาด้านต่างๆ โดยคณะอนุกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาด้านวิชาการ ด้านนักศึกษาและงานพัฒนานักศึกษา ด้านวิจัย ด้านบริหารและงบประมาณ ได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อหาระบบและกลไกที่จะพัฒนาคุณภาพในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพแต่ละด้านที่รับผิดชอบ มีการกำหนดกิจกรรม มาตรฐานของกิจกรรมและเงื่อนไขเวลาที่ต้องบรรลุ เช่น

1) ด้านการเรียนการสอน

1.1 การประเมินการสอนของอาจารย์โดยนักศึกษา

  • ปรับปรุงข้อคำถามในแบบสอบถามเกี่ยวกับการสอนของอาจารย์โดยนักศึกษา กระบวนวิชาบรรยาย

  • ดำเนินการประเมินการสอนของอาจารย์ กระบวนวิชาปฏิบัติการ โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับการสอนของอาจารย์ กระบวนวิชาปฏิบัติการ ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2544

  • อยู่ในระหว่างการเตรียมการให้มีการประเมินการสอนของอาจารย์แบบ online ทั้งภาคบรรยายและปฏิบัติการ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยจะเริ่มใช้ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2544

1.2 การจัดการเรียนการสอน

  • จัดสัมมนาคณาจารย์เรื่อง "การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่" เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2544

  • เข้าร่วมประชุม/สัมมนา เกี่ยวกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เช่น การประชุม/สัมมนา เรื่อง "การปฏิรูปการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนา นักศึกษาให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้" "การวิเคราะห์ข้อสอบเพื่อมาตรฐานการศึกษา" ฯลฯ เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ และนำมาวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภายในคณะ ฯ

  • กำหนดแผนการอบรม/สัมมนาคณาจารย์เพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่คณาจารย์ในด้านการจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอน วิธีการวัดและประเมินผล ฯลฯ ภาคการศึกษาละ 2 ครั้ง

1.3 การวัดและประเมินผล

  • ได้จัดทำแบบรายงานการวัดและประเมินผล และขอความร่วมมือทุกภาควิชาดำเนินการรายงานการวัดและประเมินผลของกระบวนวิชาต่างๆ ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 254

1.4 อาจารย์

  • ได้จัดทำแบบบันทึกภาระงานของอาจารย์ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ งานสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการแก่ชุมชน และงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์

2) ด้านนักศึกษาและงานพัฒนานักศึกษา มีการปรับรูปแบบการจัดโครงการอบรมภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี และเพิ่มโครงการพัฒนาจริยธรรมคุณธรรมให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 โครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา

3) ด้านการวิจัย ได้วางแนวทางในการนำงานวิจัยไปสู่การบริการชุมชนให้มากขึ้น มีการขยายการให้บริการผ่านสถานบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การให้บริการห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบตามมาตรฐาน ISO/IEC Guide25 และ การส่งเสริม/ดำเนินงานวิจัยเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ฯลฯ

4) ด้านบริหารและงบประมาณ ได้จัดโครงการพัฒนาบุคลากรทุกระดับอย่างต่อเนื่องทั้งระดับผู้บริหารคณะ/ภาควิชา ผู้บริหารระดับกลาง(หัวหน้างาน/หน่วย/เลขานุการภาควิชาฯ) ข้าราชการสาย ข/ สาย ค /ลูกจ้างประจำ/ลูกจ้างชั่วคราว โดยในรอบปีที่ผ่านมาได้จัดโครงการพัฒนาบุคลากร รวม 3 โครงการ รวมทั้งมีการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาการบริหารงานด้วย 5 ส ตลอดทั้งปี

นอกเหนือจากการสร้างระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาโดยคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ และคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของภาควิชาแล้ว คณะฯ ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาด้านบริการวิชาการชุมชน คณะอนุกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของสำนักงานเลขานุการคณะฯ และคณะทำงานจัดทำรายงานการศึกษาตนเองของสำนักงานเลขานุการคณะฯ เพื่อทำให้การนำนโยบาย แนวปฏิบัติในการประกันคุณภาพการศึกษา ตลอดจนระบบกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาที่คณะอนุกรรมการฯ แต่ละชุดได้สร้างขึ้น ไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างกว้างขวางมีประสิทธิภาพ และเป็นไปอย่างทั่วถึงทุกหน่วยงานภายในคณะวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้คณะฯ ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของภาควิชาและสำนักงานเลขานุการคณะฯ จัดทำรายงานการศึกษาตนเองขึ้น เพื่อให้ภาควิชา/สำนักงานฯ ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาควิชา/หน่วยงาน รายงานผลการดำเนินงานตามองค์ประกอบคุณภาพ และมีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของภาควิชา ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยกำหนดตรวจเยี่ยมการประกันคุณภาพการศึกษาระดับภาควิชา/สำนักงานเลขานุการคณะฯ ประจำปี 2544 ในช่วงเดือนธันวาคม 2544
สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพนั้น หลังจากคณะวิทยาศาสตร์ได้ผ่านการตรวจสอบระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 27-29 เมษายน 2543 ไปแล้ว คณะวิทยาศาสตร์ได้เสนอทบวงมหาวิทยาลัยทำการตรวจสอบระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ ระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคม 2544 ซึ่งผลการตรวจสอบฯ คณะกรรมการตรวจสอบจากทบวงมหาวิทยาลัย ได้ให้การรับรองผลการดำเนินงานของคณะวิทยาศาสตร์ ทั้ง 9 องค์ประกอบคุณภาพ โดยมีข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นบางประการเพื่อให้คณะนำไปปรับปรุงแก้ไข
สำหรับการเตรียมการเพื่อรับการประเมินคุณภาพการศึกษาจากองค์กรภายนอกนั้น กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำฐานข้อมูลแบบมีส่วนร่วมของคณะวิทยาศาสตร์ โดยให้เจ้าของข้อมูล ซึ่งได้แก่ อาจารย์ ตลอดจนบุคลากรทุกคน มีส่วนร่วมในการปรับปรุงฐานข้อมูลให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ สำหรับการดำเนินการในระยะแรกนั้นได้เริ่มดำเนินการในส่วนของการบันทึกภาระงานของอาจารย์ เป็นอันดับแรก
นอกจากนี้แล้ว คณะวิทยาศาสตร์ยังได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้มาดูงานการประกันคุณภาพการศึกษาจากสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ดังนี้
12 ตุลาคม 2543 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
1 พฤศจิกายน 2543 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
21 พฤศจิกายน 2543 สถาบันราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี
22 กุมภาพันธ์ 2544 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรุงเทพฯ
27 กรกฎาคม 2544 สถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
30 สิงหาคม 2544 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ


รายงานประจำปี 2544