โครงการรับเข้าพิเศษระดับปริญญาตรี

 


1) โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี( พสวท.)

คณะวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความร่วมมือดำเนินงานตามโครงการ พสวท. ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงานประกอบด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อส่งเสริมและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์พื้นฐานในสาขาขาดแคลนเพื่อสนองความต้องการของประเทศอย่างเร่งด่วน โดยรับผิดชอบเป็นศูนย์ของโครงการ พสวท. ระดับอุดมศึกษาประจำภาคเหนือ ประกอบด้วยจังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี รับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษเข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเอกคณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และธรณีวิทยา โดยรับนักเรียนที่ได้รับทุนโครงการ พสวท. ระดับมัธยมศึกษาเข้าศึกษา และทำการสอบคัดเลือกเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง รวมปีละประมาณ 20 ทุน

2) โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.)

ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันจัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์(สควค.) ขึ้นเพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีความสามารถและมีคุณภาพสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยหาวิธีการจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถสูงทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สนใจมาเรียนเป็นครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้มากขึ้น เช่น การให้ทุนการศึกษา การบรรจุเข้ารับราชการทันทีที่จบการศึกษา และมีเงินเพิ่มค่าวิชาชีพที่ขาดแคลน รวมทั้งให้สวัสดิการต่างๆ เพื่อให้อาชีพครูมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี โดยคาดหวังว่าครูที่เป็นผลผลิตของโครงการนี้จะกระจายไปอยู่ทั่วประเทศ เป็นครูตัวอย่างที่จะทำให้มีผู้ใฝ่ใจเรียนเป็นครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหาการเรียนการสอน และการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป ทั้งนี้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาในภาคเหนือระยะที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2539-2545 โดยทำการรับนักเรียนที่ได้รับทุนโครงการ สควค. ระดับมัธยมศึกษาเข้าศึกษา และทำการสอบคัดเลือกเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง รวมปีละประมาณ 20-50 ทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนทุนที่ได้รับในแต่ละปี

3) โครงการเร่งรัดการผลิตและพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์ (รพค.)

ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยมีแผนการรับนักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษาโดยจัดสรรทุนการศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัย 16 แห่งๆ ละ 5 ทุน นั้น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัยในการรับนักศึกษาเข้าศึกษาในโครงการ รพค. ดังกล่าวนี้ โดยดำเนินการอยู่ภายใต้การดูแลของคณะทำงานโครงการ พสวท. และวพ.

ในปีการศึกษา 2538 รับนักศึกษาโดยการคัดเลือกจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 โดยการประกาศรับสมัครนักศึกษาที่มีเงื่อนไขครบตามคุณสมบัติและมีความสนใจที่จะศึกษาในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับปีการศึกษา 2539 เป็นต้นมา การรับนักศึกษาจะคัดเลือกโดยใช้กระบวนการและข้อสอบเดียวกันกับการสอบคัดเลือกนักศึกษาในโครงการพิเศษอื่นๆ

ในปีการศึกษา 2543 ที่ผ่านมาได้งดรับนักศึกษาเข้าโครงการฯ เนื่องจากประเทศประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ

4) โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีนโยบายรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าศึกษาในสาขาวิชาที่สนใจตามคณะต่างๆ จึงได้กำหนดโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเข้าศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 เป็นต้นมา โดยคณะวิทยาศาสตร์จัดสอบคัดเลือกพร้อมกับการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการ พสวท. สควค. รพค. และ วพ. โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกและให้การสนับสนุนนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่สนใจ และมีความถนัดในคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเตรียมบัณฑิตคุณภาพสูงสำหรับศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นนักวิจัยหรือเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

สำหรับปีการศึกษา 2544 เป็นต้นไป การสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการนี้จะดำเนินการโดยส่วนกลางของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคัดเลือกจากนักเรียนทั่วประเทศ

5) โครงการรับนักศึกษาเข้าโดยวิธีพิเศษ (วพ.)

คณะวิทยาศาสตร์ ได้ริเริ่มโครงการรับนักศึกษาเข้าโดยวิธีพิเศษ (วพ.) ขึ้นอีกโครงการหนึ่ง เพื่อตอบสนองนักเรียนที่พลาดโอกาสในโครงการ พสวท. และมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ โครงการ วพ. ได้กำหนดรับนักศึกษาพร้อมกับการรับนักศึกษาเข้าโครงการ พสวท. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2528 เป็นต้นมา

ในระยะแรก (ปีการศึกษา 2528-2535) กำหนดรับนักศึกษาทั้งสองโครงการ(พสวท. และ วพ.) จำนวนไม่เกิน 50 คน ผู้ที่สอบคัดเลือกได้คะแนนสูงสุดจำนวนหนึ่งจะได้รับทุนการศึกษาตามโครงการ พสวท. ส่วนที่เหลือรับเข้าศึกษาในโครงการ วพ. เข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยไม่ต้องสอบคัดเลือกใดๆ อีก ระยะที่สอง (ปีการศึกษา 2536-2539) ได้ขยายจำนวนรับทั้งโครงการ พสวท. และ วพ. รวมกันไม่เกิน 100 คน

ต่อมาในระยะที่สาม(ตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 เป็นต้นมา) คณะวิทยาศาสตร์ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ให้ทุนแก่นักศึกษาในโครงการพิเศษหลายโครงการเพิ่มขึ้น เช่น โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) โครงการเร่งรัดการผลิตและพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์ (รพค.) โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี เป็นต้น จึงได้ขยายจำนวนรับนักศึกษาเข้าโครงการพิเศษต่างๆ ทุกโครงการรวมทั้งสิ้น 125 คน และเมื่อคัดเลือกผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือกเข้ารับทุนการศึกษา ตามโครงการต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จำนวนที่เหลือใน 125 คนดังกล่าว จึงรับเข้าเป็นนักศึกษาในโครงการ วพ.

6) จำนวนนักเรียนรับเข้าพิเศษ

ในปีการศึกษา 2543 คณะวิทยาศาสตร์ ได้คัดเลือกนักเรียนในโครงการพิเศษต่างๆ ทุกโครงการทั้งสิ้น 62 คน ดังนี้

6.1 โครงการ พสวท.

6.2 โครงการ สควค.

6.3 โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี

20 คน

23 คน

19 คน

7) การดำเนินงานโครงการพิเศษทุกโครงการ

การดำเนินงานตามโครงการ พสวท. วพ. รพค. สควค. และโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี คณะวิทยาศาสตร์ ได้มอบหมายให้คณะทำงานคณะหนึ่งเรียกว่า คณะทำงานโครงการ พสวท. วพ. รพค. สควค. และโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหน้าที่บริหารและดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ สำหรับปี 2543 มีกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 4 กิจกรรม ดังนี้

    1. ร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อน ประจำปีการศึกษา 2542 สำหรับนิสิต นักศึกษา โครงการ พสวท. ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 27-31 มีนาคม 2543 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาดูงานและปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์นอกสถานที่ และศึกษาการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในหน่วยงานที่เกี่ยวกับงานวิทยาศาสตร์ ตลอดจนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และได้ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
    2. ร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และปลูกฝังคุณลักษณะความเป็นครู สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 โครงการ สควค. ประจำปีการศึกษา 2542 ณ เขาค้อวัลเลย์ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดเมื่อวันที่ 27-30 เมษายน 2543 เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสศึกษาดูงานนอกสถานที่ในหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และเตรียมความพร้อมที่จะออกไปเป็นครูวิทยาศาสตร์ในอนาคต
    3. จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลประจำปีการศึกษา 2542 สำหรับนักศึกษาโครงการพิเศษทุกโครงการ ระหว่างวันที่ 1-5 เมษายน 2543 ณ ฐานทัพเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาได้สัมผัสตรงทางด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านวิชาการร่วมกัน ตลอดจนศึกษาดูงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหน่วยงานที่ใกล้เคียง รวมถึงด้านศิลปวัฒนธรรมด้วย
    4. การจัดค่ายวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนแม่ทะประชาสามัคดี จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 22-25 ตุลาคม 2542 เพื่อเป็นการบริการวิชาการแก่ชุมชน และปลูกฝังทัศนคติและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างมีระบบ ให้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

รายงานประจำปี 2543