ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ร่วมพิธีเปิดอาคารศูนย์กลางขนส่งมวลชนอัจริยะ พลังงานสีเขียว ใช้ก๊าซ CBG จากขยะ แห่งแรกของประเทศ

       ศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์  ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดอาคารศูนย์กลางขนส่งมวลชนอัจริยะ  พลังงานสีเขียว Green and Clean University ซึ่งมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์กลางขนส่งมวลชนฯ บริเวณประตู มช. ใกล้สถานีบริการน้ำมัน ปตท. 

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินหน้าโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด CMU Smart City -Clean Energy ทั้งด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การสัญจรและชุมชน โดยได้จัดสร้างศูนย์กลางขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น เพื่อรองรับการใช้บริการรถสาธารณะภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการให้บริการรถไฟฟ้าและรถตู้ที่ใช้พลังงานทดแทนจากก๊าซ CBG นำร่องมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ซึ่งในการดำเนินงานได้รับการสนับสนุนการออกแบบการก่อสร้างจาก บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

ศูนย์บริหารจัดการขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นตามนโยบายเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยสู่เมืองต้นแบบอัจฉริยะพลังงานสะอาด โดยเน้นการจัดระบบ GreenNetwork Areaและพัฒนา CMUApplication ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการวางแผนการสัญจรเดินทางในมหาวิทยาลัยล่วงหน้าได้ เช่น การใช้ GPS ติดตามการเดินรถไฟฟ้า และเช็คที่นั่งว่างได้ด้วยระบบ Smart Mobility  ด้านความปลอดภัยสามารถติดตามแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ด้วยการพัฒนาระบบประตูเข้าออกอัจฉริยะบริเวณประตูทั้ง 5 ประตูที่ใช้เข้าออกควบคู่กับบัตรเข้าออกอัจฉริยะ (RFID Card)  การจัดทำ Parking Zone เพื่ออำนวยความสะดวกและลดการสัญจรที่ไม่จำเป็นลง  ตลอดจนจัดเพิ่มระบบ Bike Sharingหรือจักรยานสาธารณะรุ่นมีเกียร์  เพื่อเพิ่มทางเลือกในการสัญจรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  และช่วยลดปัญหาการใช้รถส่วนบุคคล

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ กล่าวต่อว่า ศูนย์กลางขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่ ณ บริเวณประตูเข้าออก ใกล้กับสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ด้านถนนเลียบคลองชลประทาน เชื่อมโยงกับทางหลวงสัญจรหลักของเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันมีรถสาธารณะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จอดให้บริการอยู่ ได้แก่ รถไฟฟ้าใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ จำนวนทั้งสิ้น 55 คัน  คันละ 12 ที่นั่ง ออกวิ่งรับผู้โดยสาร วนรอบมหาวิทยาลัยฝั่งสวนสัก 6 สาย และฝั่งสวนดอก 1 สาย ทุกวันไม่เว้นวันหยุด  โดยเฉลี่ยในวันปกติวิ่งระยะทางประมาณคันละ 114 กิโลเมตร จำนวน 55 คัน และในวันหยุดวิ่งระยะทางประมาณคันละ 123 กิโลเมตร จำนวน 28 คัน การใช้รถไฟฟ้าจะช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซลได้มากถึง 191,552 ลิตรต่อปี ช่วยประหยัดเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5,591,397 บาทต่อปี และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศได้มากถึง 250 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

นอกจากนี้ ยังมีรถตู้ มช.สีม่วงที่ใช้พลังงานจากก๊าซ CBG ที่ผลิตจากขยะที่รวบรวมได้ทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัย จำนวน 4 คัน ให้บริการเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งสวนสัก (ณ จุดบริการด้านหน้าศูนย์วิจัยข้าวล้านนา) เพื่อไปฝั่งสวนดอก (ณ จุดบริการอาคารเรียนรวม)  และจากฝั่งสวนสัก (ณ สถานีบริการหน้ามหาวิทยาลัย)   เพื่อไปฝั่งแม่เหียะ  โดยรถตู้ก๊าซ CBG  ใช้พลังงานทดแทนในการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพแบบหมักแห้งและระบบก๊าซชีวภาพแบบ CMU-Hybrid Digester และระบบผลิตก๊าซ CBG ที่มช.สร้างขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซ CBG จากก๊าซชีวภาพหรือที่เรียกว่า “ก๊าซไบโอมีเทนอัด” ที่มีคุณภาพเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ หรือก๊าซ NGV ได้ปริมาณ  420  กิโลกรัมต่อวัน และใช้ทดแทนแก๊สโซฮอล์ 95  ในรถตู้ ขส.มช. ช่วยประหยัดเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,472,500 บาทต่อปี และประหยัดค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการ และกำจัดขยะและชีวมวลให้มหาวิทยาลัยคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 8,910,000  บาท ต่อปี ที่สำคัญช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและลดภาวะโลกร้อนได้มากถึง 520 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยไปสู่เมืองอัจริยะต้นแบบพลังงานสะอาด  เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจของผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษาและชุมชนในพื้นที่ ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต่อยอดจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ และหันมาตระหนักให้ความสำคัญถึงประโยชน์ของการใช้พลังงานทดแทนในภาคการขนส่งกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่โครงการต้นแบบตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับความเป็นสังคมอุดมปัญญา มีความสุข ให้กับชุมชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการใช้พลังงานของสังคมและประเทศได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลจาก PRCMU


วันที่ : 31 ส.ค. 2018





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว