ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพฯ คณะวิทย์ มช. นำทุกภาคส่วนร่วมเสวนาการฟื้นฟูป่าภาคเหนือ “มุ่งสู่คุณภาพชีวิตคนและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ”

       เมื่อวันที่ 3-4 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย อาจารย์  ดร.เดีย พนิตนาถ แชนนอน หัวหน้าศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ จัดการสัมมนา The 4th Doi Suthep Symposium "การฟื้นฟูป่าภาคเหนือของประเทศไทย" ณ ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ และแปลงฟื้นฟูป่าในอำเภอแม่ริม โดยนำผู้แทนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนา เพื่อร่วมกันเรียนรู้แนวคิด หลักการ และเทคโนโลยีการฟื้นฟูป่า การฟื้นฟูป่าร่วมสมัย ตลอดจนร่วมการเสวนา "บทบาทแต่ละภาคส่วนในการฟื้นฟูป่าเมืองไทย" และกรณีศึกษาการฟื้นฟูป่าในภาคเหนือ โดยวิทยากรผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ แบ่งตามระดับความเสื่อมโทรม โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ และรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานในพิธี ซึ่งมีผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานด้วย

อาจารย์  ดร.เดีย กล่าวถึงภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาร่วมงานว่า “การสัมมนาครั้งนี้ได้รับความร่วมมือและความสนใจเป็นอย่างดีจากหลายภาคส่วน โดยภาครัฐ มีสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) กรมป่าไม้ ภาคชุมชน มีตัวแทนนักอนุรักษ์จากชุมชนในจังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ และจังหวัดเชียงใหม่ ภาคประชาสังคม มีกลุ่มขุนดง ภาคเอกชน มีผู้แทนจาก SCG และภาคสถาบันการศึกษา มีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ”

นอกจากนี้อาจารย์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการจัดงานนี้ว่า “การจัด Doi Suthep Symposiumในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ริเริ่ม และเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน แต่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เราได้นำคนทำงานจริงด้านการฟื้นฟูป่าของประเทศไทยมาร่วมพบปะ แลกเปลี่ยน พูดคุย ทำความรู้จัก และทำงานร่วมกัน เพื่อให้การฟื้นฟูป่าเกิดขึ้นจริง โดยเป้าหมายสูงสุดในการฟื้นฟูป่าระดับประเทศ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นวาระของชาติ ก็คือ ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 แต่ปลายทางจริงๆ ของการฟื้นฟูป่า หากเราไม่สนใจในเรื่องของตัวเลข ก็จะมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1. คุณภาพชีวิตที่ดีของคน และ 2. ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งสิ่งที่เป็นหัวใจหลักที่จะทำการฟื้นฟูป่าเกิดขึ้นได้จริง ก็คือ การบูรณาการ (ที่เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก) และสิ่งที่จะทำให้การบูรณาการเกิดขึ้นได้จริงๆ ก็คือความจริงใจในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ก็คือการทำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคน และเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศนั่นเอง

คลิกชมบทสัมภาษณ์ หัวหน้าศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ 


วันที่ : 3 ส.ค. 2018





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว