ถอดบทเรียนถ้ำหลวง: ปฏิบัติการธรณีฟิสิกส์ ในการสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ โดย ทีมธรณีวิทยา มช.

ปฏิบัติการธรณีฟิสิกส์
ในการสนับสนุนภาระกิจการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่13 ชีวิต
โดย รศ.ดร.พิษณุ วงศ์พรชัย ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(Facebook : Pisanu Wongpornchai 10 กรกฎาคม 2561)

 

        เนื้อหาต่อไปนี้ จัดทำขึ้นเพื่อถ่ายทอดให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้การสำรวจด้านธรณีฟิสิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการสำรวจสภาพต้านทานไฟฟ้า ในการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ จำนวน 13 ชีวิต ซึ่งประกอบด้วย นักฟุตบอล 12 คน และ โค้ช 1 คน ซึ่งติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่รับทราบจากการปฏิบัติงานในภาคสนามและจากการสรุปงานการปฏิบัติงานประจำวัน

ปฏิบัติการในการช่วยเหลือแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ ด้านปากถ้ำ และด้านปลายถ้ำ
ด้านปากถ้ำ มีภารกิจหลัก คือ การลดระดับน้ำในถ้ำลงเพื่อให้สามารถลำเลียงทีมฟุตบอลหมูป่าฯ ออกจากปากถ้ำ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลัก
ด้านปลายถ้ำ เป็นแผนสำรองหากแผนการปฏิบัติการด้านปากถ้ำไม่ประสบความสำเร็จ มีภารกิจหลัก คือ หาตำแหน่งของปลายถ้ำที่คาดว่าฝังตัวอยู่ใต้ดิน เพื่อทำการเจาะหลุมเข้าสู่ โถงถ้ำหลัก (main cave)

งานธรณีฟิสิกส์ ด้านปากถ้ำ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. ด้านเหนือ บริเวณดอยผาหมี และบริเวณใกล้เคียง 2. ด้านตะวันตก และ 3. ด้านตะวันออก บริเวณที่เป็นปากถ้ำ

ด้านเหนือ เป็นงานสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้านสภาพต้านทานไฟฟ้า เพื่อหาตำแหน่งโพรงซึ่งคาดว่าเป็นจุดที่น้ำจะไหลเข้าสู่ระบบถ้ำ เพื่อจะได้ดำเนินการปิดกั้นเส้นทางน้ำ และทำการเบี่ยงเบนแนวทางเดินของน้ำให้ไหลออกไปในเส้นทางอื่น ดำเนินการโดย ทีมกรมชลประทาน ทีมกรมทรัพยากรธรณี และทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลการสำรวจสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์

ด้านตะวันตก เป็นงานสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้านสภาพต้านทานไฟฟ้า เพื่อหาตำแหน่งที่จะสามารถเจาะหลุมจากผิวดินให้ถึงเพดานของโถงถ้ำหลัก ดำเนินการโดย ทีมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลการสำรวจไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากคาดการณ์ว่าความหนาของเพดานถ้ำมีความหนามาก (งานสำรวจดำเนินการที่ระดับความสูง ระหว่าง 600 – 1300 เมตร ในขณะที่เพดานถ้ำ น่าจะอยู่ที่ระดับความสูง 400 - 450 เมตร โดยประมาณ) สภาพภูมิประเทศบนผิวดินไม่เอื้อให้การสำรวจสามารถสำรวจได้ลึกจนถึงเพดานถ้ำ

ด้านตะวันออก เป็นงานสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้านสภาพต้านทานไฟฟ้า เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นจุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อใช้ในการระบายน้ำออกจากระบบน้ำบาดาล ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้สามารถลดระดับน้ำในถ้ำได้ ดำเนินการโดยทีมกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผลการสำรวจสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์

งานธรณีฟิสิกส์ ด้านปลายถ้ำ บริเวณลำห้วย บ้านสันป่าสัก เป็นงานสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้านสภาพต้านทานไฟฟ้า เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการเจาะหลุมจากผิวดินให้ถึงโถงถ้ำหลัก (งานสำรวจดำเนินการที่ระดับความสูง ประมาณ 600 เมตร ในขณะที่เพดานถ้ำ น่าจะอยู่ที่ระดับความสูง 500 – 550 เมตร โดยประมาณ) มีตำแหน่งซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก ที่เรียกว่า Martin’s point (มาจากชื่อนักสำรวจถ้ำ Martin Ellis ที่ให้ข้อมูลว่าที่ปลายถ้ำ พบจุดที่แสงสว่างลอดเข้ามาในถ้ำได้) ดำเนินการโดย ทีมกรมชลประทาน ทีมกรมทรัพยากรธรณี และทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลการสำรวจ ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ พบแต่รอยแตก หรือโพรงขนาดเล็ก ที่เป็นเส้นทางที่น้ำไหลเข้าสู่ถ้ำ จึงได้ดำเนินการดำเนินการปิดกั้นเส้นทางน้ำ และทำการเบี่ยงเบนแนวทางเดินของน้ำให้ไหลออกไปในเส้นทางอื่น

สรุปว่า งานสำรวจธรณีฟิสิกส์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ให้การสนับสนุนให้การปฏิบัติงานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สามารถช่วยทีมฟุตบอลหมูป่าฯ ออกมาได้อย่างปลอดภัย

แม้ว่าการสำรวจบางพื้นที่อาจไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แต่ก็ยังสามารถนำผลที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการปฏิบัติงานในด้านอื่นๆ ได้


วันที่ : 11 ก.ค. 2018





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว