นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ร่วมทีมวิจัยนานาชาติ ศึกษา DNA กระดูกมนุษย์โบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มช. ร่วมทีมวิจัยนานาชาติ ศึกษา DNA กระดูกมนุษย์โบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เผยผลการวิจัยที่พบว่า มนุษย์โบราณในเวียดนามและไทยมีความใกล้ชิดกันทางพันธุกรรม โดยมีบรรพชนร่วมกับกลุ่มชนที่พูดภาษามอญ-เขมรซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคนี้อย่างน้อยตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน 

          Ancient genomes document multiple waves of migration in Southeast Asian prehistory” คือชื่องานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scienceเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยวารสารดังกล่าว มีค่า Impact factor (2016) หรือจำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่บทความของวารสารนั้นจะได้รับการอ้างอิงในแต่ละปี สูงถึง 37.205 และยังถูกจัดอยู่ใน Quartile ที่ 1 ซึ่งถือเป็นวารสารวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่มีความสำคัญและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุพล คำปวนสาย อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในทีมวิจัย จากนานาชาติ ที่ประกอบด้วยนักวิจัยจากไทย สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เวียดนาม เมียนมาร์ อิตาลี สาธารณรัฐเชค โปรตุเกส และโครเอเชีย กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ นักวิจัยมุ่งศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของดีเอ็นเอจากกระดูกของมนุษย์โบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมนุษย์ปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับเส้นทางและปัจจัยที่ส่งผลต่อการอพยพของประชากรมนุษย์ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์

ความโดดเด่นของงานวิจัยนี้ก็คือ การศึกษาดีเอ็นเอจากกระดูกของมนุษย์โบราณที่ขุดค้นพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อายุประมาณ 4,000-2,000 ปีก่อน จากประเทศเวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา และไทย โดยอาศัยเทคโนโลยีการหาลำดับเบสของดีเอ็นเอที่เรียกว่า next-generation sequencing

กระดูกของมนุษย์โบราณจากประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ที่มีอายุ 3,500-2,400 ปีก่อน ซึ่งอยู่ในช่วงปลายยุคหินใหม่ต่อเนื่องถึงยุคโลหะ ข้อมูลของดีเอ็นเอจากกระดูกโบราณถูกนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มชนปัจจุบันหลากหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยผู้วิจัยชาวไทย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุพล คำปวนสาย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้เก็บตัวอย่างวัตถุชีวภาพของประชากรปัจจุบันในภาคเหนือ ซึ่งเชื่อว่าสืบเชื้อสายจากกลุ่มชนโบราณ ได้แก่ ชาวมลาบรี (ผีตองเหลือง) และชาวถิ่น ในจังหวัดน่าน

แม้ว่างานวิจัยนี้จะเป็นผลงานการศึกษาดีเอ็นเอจากกระดูกของมนุษย์โบราณครั้งที่ 2 ของประเทศไทย ถัดจากการศึกษาตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านหลุมข้าว และแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2551 แต่นับเป็นงานวิจัยแรกที่รายงานข้อมูลดีเอ็นเอของกระดูกมนุษย์โบราณจำนวนหลายตัวอย่างจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน

จากการทำงานร่วมกันของนักวิจัยนานาชาติ และด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของสถาบันชั้นนำต่างๆ ที่มีความพร้อมทางด้านเครื่องมือในการศึกษาวิจัย จึงทำให้พบว่า ดีเอ็นเอของกระดูกมนุษย์โบราณจากประเทศเวียดนามและไทยมีความใกล้ชิดกันทางพันธุกรรม ในขณะที่กระดูกจากประเทศเมียนมาร์และกัมพูชามีความแตกต่างออกไปเล็กน้อย และเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรปัจจุบัน ดีเอ็นเอของกระดูกมนุษย์จากบ้านเชียงมีความใกล้ชิดกับกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก โดยเฉพาะกลุ่มมอญ-เขมร ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชนโบราณของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของกลุ่มชนในพื้นที่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พื้นที่บริเวณนี้มีกลุ่มชนซึ่งน่าจะเป็นหรือมีบรรพชนร่วมกับกลุ่มมอญ-เขมรอยู่อาศัยมาอย่างน้อยนับตั้งแต่ 3,000 ปีก่อน

นอกจากนี้ การปรากฎของลักษณะการผสมผสานทางพันธุกรรมระหว่างกลุ่มชนเก็บของป่าล่าสัตว์และกลุ่มที่ทำเกษตรกรรมในข้อมูลดีเอ็นเอจากกระดูกมนุษย์โบราณยังบ่งชี้ว่า การอพยพของผู้คนและการแพร่ขยายของวัฒนธรรมการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาดำซึ่งเริ่มต้นในเขตลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงเมื่อประมาณ 9,000 ปีก่อน ได้มีการแพร่ขยายลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อราว 3,000 ปีก่อน

คุณลักษณะของข้อมูลที่ได้จากดีเอ็นเอโบราณมีประโยชน์อย่างมากต่อองค์ความรู้ด้านวิวัฒนาการ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ เพราะเป็นข้อมูลตรงจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ การขุดค้นในแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในประเทศไทยบ่อยครั้งที่มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ วิทยาการการศึกษาดีเอ็นเอจากวัตถุชีวภาพที่มีความเก่าแก่จึงเป็นความหวังทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่จะสามารถคลี่คลายคำถามเกี่ยวกับพัฒนาการของชุมชน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมให้มีความชัดเจนมากขึ้น

ข้อมูลของดีเอ็นเอของกลุ่มชาติพันธุ์ยังแสดงให้เห็นว่าความแตกต่างทางพันธุกรรมของประชากรในประเทศไทยเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและเกิดขึ้นในหลายระดับด้วยเหตุปัจจัยที่หลากหลาย ประชากรคนไทยไม่ใช่กลุ่มชนที่มีเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมเพียงหนึ่งเดียว อุบัติการณ์ของลักษณะและการเกิดโรคทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เป็นผลมาจากความแตกต่างเชิงบรรพชน การอพยพ สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรม การยอมรับและทำความเข้าใจถึงพื้นฐานความแตกต่างของประชากรจะทำให้สามารถมองหาขอบเขตของการรวมกันและการแบ่งกลุ่มของประชากรอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้การศึกษาด้านพันธุศาสตร์การแพทย์ นิติวิทยาศาสตร์ ระบาดวิทยา มีความแม่นยำและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องต่อไป

จึงอาจกล่าวได้ว่า การศึกษาอดีต การค้นหารากเหง้าของมนุษย์ ไม่เพียงแต่จะทำให้เราได้รับรู้ถึงภูมิหลังอันยาวนาน และได้ไขความสงสัยในวิวัฒนาการและการอพยพของมนุษยชาติเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราสามารถวางแผนเตรียมความพร้อมสู่อนาคตอย่างรัดกุมและรอบด้านยิ่งขึ้น

การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์โบราณคดี จึงไม่ใช่สิ่งที่สูญเปล่า และคำตอบที่ได้จากการค้นคว้าก็ไม่ใช่แค่สิ่งที่สนองความอยากรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในวงกว้าง และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดได้อีกหลายด้านในอนาคต

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุพล คำปวนสาย
อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 
อ้างอิงผลงานวิจัย วารสาร SCIENCE


ชม VDO Clip สัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุพล คำปวนสาย


วันที่ : 5 ก.ค. 2018





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว