คณะวิทย์ มช. ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 17 เฟ้นหาผู้แทนไทยก้าวสู่เวทีนานาชาติ

       วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นองค์ความรู้สำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นรากฐานที่จะช่วยผลักดันประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า และนำพาประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยผู้ที่จะเป็นความหวังในอนาคต ก็คือเยาวชนไทยทั้งหลาย ที่ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาศักยภาพของตนเอง และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ เป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญของเยาวชน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาวิชาฟิสิกส์ระดับมัธยมศึกษาให้ทัดเทียมนานาประเทศ กระตุ้นและส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถทางด้านวิชาการและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น ตลอดจนพัฒนาครู อาจารย์ให้มีโอกาสฝึกฝนประสบการณ์การจัดอบรมและพัฒนาอุปกรณ์ปฏิบัติการและอุปกรณ์การเรียนการสอนทางด้านฟิสิกส์ให้ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) โดยปัจจุบันได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธาน ได้กำหนดให้มีการจัดแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ และพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานสากล โดยมอบหมายให้ศูนย์ สอวน. แต่ละแห่ง สลับกันเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันในแต่ละปี

ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คือ นักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขัน อาจารย์ประจำศูนย์ และครูสังเกตการณ์ ได้รับการพัฒนาความรู้ทางฟิสิกส์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อีกทั้งนักเรียนที่สามารถทำคะแนนได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดก็ได้รับคัดเลือกเข้าอบรมครั้งที่ 1 ในโครงการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่ดำเนินการโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนไทยก็สามารถคว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปี พ.ศ. 2561 นี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม–1 มิถุนายน 2561 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของคณะฯ ที่ได้ทำหน้าที่อันสำคัญครั้งนี้

ศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันฯ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ได้เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมสถานที่สอบแข่งขัน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมสันทนาการและกิจกรรมทัศนศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้ผ่อนคลายความเครียด และเสริมสร้างทักษะการเข้าสังคม การสื่อสาร และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น

โดยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมถึงจุดมุ่งหมายสำคัญในการจัดงานว่า การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ แม้จะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าอบรมในโครงการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ของ สสวท. เพื่อก้าวสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ แต่จุดมุ่งหมายที่สำคัญยิ่งกว่า คือการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เยาวชนไทยทั่วประเทศสนใจศึกษาหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แสดงความสามารถทางด้านวิชาการและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น เพราะในกระบวนการคัดเลือกนักเรียนผู้แทนไทยของมูลนิธิ สอวน. นั้น คำนึงถึงการกระจายโอกาสไปยังนักเรียนทุกระดับ ทุกพื้นที่ โดยในปัจจุบันมีศูนย์ สอวน. อยู่ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมกว่า 14 แห่ง ที่ดำเนินการจัดค่ายโอลิมปิกวิชาการและสอบคัดเลือกนักเรียนเข้ามาสู่การแข่งขันระดับชาติ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์/สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา มูลนิธิ สอวน. ได้ขยายการอบรมไปยังโรงเรียนเครือข่าย เรียกว่า โรงเรียนขยายผล สอวน. และเมื่อปีการศึกษา 2559 ได้ขยายการจัดค่ายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ เพิ่มเติม เรียกว่าโรงเรียนศูนย์ สอวน. เพื่อกระจายโอกาสการเข้าค่ายของนักเรียน ตลอดจนพัฒนาครูจากโรงเรียนให้เป็นวิทยากรการอบรม และพัฒนาโรงเรียนเครือข่ายในภาพรวม

ทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อำพล วงศ์จำรัส หัวหน้าภาควิชาภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงความคาดหวังในการจัดแข่งขันครั้งนี้ว่า ถึงแม้การแข่งขันจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 5 วัน และผู้ได้รับคัดเลือกก็จะมีเพียงจำนวนหนึ่ง แต่เชื่อว่าในกระบวนการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน ทั้งการเข้าค่าย การเตรียมงาน และการสอบ จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับทุกฝ่าย

โดยนักเรียนที่เข้าแข่งขันจะได้เปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ ได้แสดงความสามารถ และพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์ของตนเอง สำหรับคณะครู อาจารย์ที่เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ และจัดการสอบ ก็จะได้นำประสบการณ์ไปการพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียน ส่วนนักศึกษาพี่เลี้ยงและนักศึกษาช่วยงานก็จะได้เรียนรู้ระบบการทำงาน พัฒนาทักษะการเข้าสังคม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีที่งดงามและทรงคุณค่าของล้านนา และได้ทัศนศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยเปิดโลกกว้างในการเรียนรู้ ที่ไม่จำกัดอยู่แค่ในตำราทางวิชาการเท่านั้น
 
การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ จึงไม่ใช่แค่การสอบแข่งขัน แต่เป็นหนึ่งกระบวนการสำคัญ ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ความกระตือรือร้น และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเยาวชนและครูผู้สอนทั่วประเทศ 


ติดตามรายละเอียดการแข่งขันได้ที่ http://17tpho.science.cmu.ac.th


วันที่ : 7 พ.ค. 2018





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว