การแถลงข่าว เรื่อง การพัฒนาอินเตอร์เฟียร์เมทรีเชิงอะตอมและเทคโนโลยีควอนตัม

  ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ จัดการแถลงข่าว เรื่อง “การพัฒนาอินเตอร์เฟียร์เมทรีเชิงอะตอมและเทคโนโลยีควอนตัม” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2558 ณ ห้องประชุม 2 ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ อาจารย์ ดร.วรานนท์  อนุกูล หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยทัศนศาสตร์อะตอมควอนตัม อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ประธานการแถลงข่าว กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7-8 เมษายน ที่ผ่านมา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ได้จัดการสัมมนา หัวข้อ “การพัฒนาอินเตอร์เฟียร์โรเมทรีเชิงอะตอม” โดยเชิญกลุ่มนักวิจัยสาขาอะตอม-แสง จากหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มาร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับอินเตอร์เฟียร์โรเมทรีเชิงอะตอม โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้งานวิจัยด้านอะตอมเย็น อันเป็นผลิตผลจากการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2551-2555) ไปสู่เทคนิคการวัดที่มีความเที่ยงตรงสูง ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่มีความสนใจร่วมกันในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว

จากการประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นสำหรับโปรแกรมวิจัยร่วมกันว่าจะสร้างต้นแบบเครื่องวัดค่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่แม่นยำและละเอียดเหนือกว่าเทคนิคแบบเก่าให้ได้ภายในกรอบระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อพัฒนาไปเป็นอุปกรณ์ติดเครื่องบินที่ใช้ทำการสำรวจแหล่งทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่ ในบริเวณพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะแหล่งพื้นดินและชายฝั่งที่คิดว่าน้ำมันได้หมดไปแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยลดต้นทุนของการสำรวจและขุดเจาะในบริเวณทะเลลึกได้ไม่น้อยกว่า 10 เท่าตัว โดยในปัจจุบันมีการใช้เทคนิคอินเตอร์เฟียร์โรมิเตอร์เพื่อวัดการหมุนและความเอียงลาด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอากาศยาน การบิน และอวกาศ นอกจากนี้ความสามารถในการวัดค่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่แม่นยำยังถูกใช้ในการคาดการณ์เชิงธรณีวิทยา เช่น การเลื่อนตัวของเปลือกโลก หรือวัดระดับน้ำใต้ดิน ร่วมถึงงานมาตรวิทยา และการสำรวจทางการทหาร
           
ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. ถิรพัฒน์ วิลัยทอง กล่าวเสริมอีกว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ดำเนินการในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2559-2562) ร่วมกันกับศูนย์ความเป็นเลิศอื่นๆ อีก 10 ศูนย์ เพื่อดำเนินการวิจัยที่เป็นประโยชน์ในสาขาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ได้มีผลการดำเนินงานที่สำคัญคือ กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังจะประสบความสำเร็จในการดักอะตอมเดี่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านมาตรวัดเชิงควอนตัม การคำนวณเชิงควอนตัม และสารสนเทศเชิงควอนตัม และจากการสัมมนาเพื่อระดมสมองเมื่อวันที่ 7-8 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์ฯ สามารถกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอินเตอร์เฟียร์โรเมทรีเชิงอะตอมได้ คือ “การพัฒนาเพื่อใช้สำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ” ทั้งนี้ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการค้นคว้าทดลองในห้องปฏิบัติการวิจัยทัศนศาสตร์อะตอมควอนตัมที่ตั้งอยู่ภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยในการค้นพบวิธีการดักอะตอมเดี่ยวดังกล่าว อันจะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์อีกหลายสาขาที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต ทั้งนี้การประชุมระดมสมองครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 21พฤษภาคม 2558 ที่งานประชุมประจำปีของสมาคมฟิสิกส์ไทย ณ จังหวัดกระบี่

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกลางศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ตู้ ปณ.70 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ (053) 942650-3 โทรสาร (053) 222774
 

 


วันที่ : 9 เม.ย. 2015





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว