ผลการดำเนินงานของภาควิชา ปี 2547
ภาควิชาคณิตศาสตร์

   


1. ประมวลผลการดำเนินงานตามพันธกิจโดยสรุป

ด้านการผลิตบัณฑิต
ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้ดำเนินการสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์ระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ มีนักศึกษาในสังกัดวิชาเอก รวมทั้งสิ้น 195 คน จำแนกได้เป็น นักศึกษาระดับปริญญาตรี 135 คน ระดับปริญญาโท สาขาคณิตศาสตร์ 20 คน สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 29 คน และระดับปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์ 11 คน
นอกจากนี้แล้วภาควิชายังรับผิดชอบเปิดสอนกระบวนวิชาพื้นฐานให้กับนักศึกษาคณะต่างๆในหลักสูตรปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ และหลักสูตรนานาชาติ มีกระบวนวิชาที่เปิดสอนรวมทั้งสิ้น 82 กระบวนวิชา ปัจจุบันกำลังดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาคณิตศาสตร์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาคณิตศาสตร์ตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา และจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2548
ภาควิชาคณิตศาสตร์มีบุคลากรตำแหน่งอาจารย์ ทั้งข้าราชการและพนักงานรวมทั้งสิ้น 38 คน(ลาศึกษาต่อในประเทศ 3 คน) ผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญ 1 คนและมีบุคลากรสนับสนุนวิชาการ 4 คน ลูกจ้างประจำ 4 คน ลูกจ้าวชั่วคราว 1 คน
คณาจารย์มีคุณวุฒิ ในสัดส่วน ป.เอก : ป.โท : ป.ตรี = 13 : 22 : 3
และมีตำแหน่งทางวิชาการ ในสัดส่วน ศ : รศ : ผศ : อ = 2 : 9 : 10 : 17
มีอาจารย์ได้รับทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 1 คน ได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอกไปทำวิจัย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา 2 คน

ภาควิชามีอาจารย์ที่ได้รับรางวัลระดับชาติดังนี้
1. ศ.อำนวย ขนันไทย ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2547 ของสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
2. อ.ดร.ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์ ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นรุ่นเยาว์สาขาคณิตศาสตร์ประจำปี 2546 “2003 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand” จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและ UNESCO โดยสภาวิทยาศาสตร์แห่งโลกที่สาม (Third World Academy of Sciences)
3. อ.ดร.ณัฐกร สุคันธมาลา ได้รับรางวัลชนะเลิศการออกแบบผ้าคลุมไหล่สตรีจากผ้าทอมือ ภายใต้โครงการศูนย์อุตสาหกรรมอัญมณีสู่เมืองแฟชั่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

ด้านการวิจัย
ภาควิชาได้กำหนดแนวทางการวิจัยให้ชัดเจนเป็น 3 แนวทางได้แก่ (1) การวิจัยเพื่อศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางคณิตศาสตร์ โดยเน้นการสร้างทฤษฎี และ องค์ความรู้ใหม่ทางคณิตศาสตร์ และ ตีพิมพ์ผลงานในวารสารระดับชาติและนานาชาติ (2) การวิจัยเชิงคณิตศาสตร์ประยุกต์เพื่อนำทฤษฎี และวิธีการทางคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆโดยเน้นที่การวิจัยที่สามารถนำผลไปประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศต่อไป (3) การวิจัยที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนรวมทั้งสร้างสื่อการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้น

ทุนวิจัยที่ได้รับจากแหล่งทุนภายนอก
1. ทุนเมธีวิจัยอาวุโส ชื่อโครงการ “ทฤษฎีดิสตริบิวชันและทฤษฎีของปริภูมิบานาค”โดยมี ศ. อำนวย ขนันไทยเป็นหัวหน้าโครงการ รศ.ดร.สุเทพ สวนใต้ เป็นผู้ร่วมโครงการ และเป็นหัวหน้าโครงการกลุ่มวิจัยย่อย “สมบัติเรขาคณิตของปริภูมิบานาค” ได้รับทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในช่วง 1 ก.ค. 2546 -1 ก.ค. 2548
2. ทุนองค์ความรู้ใหม่ ชื่อโครงการ “Geometry of Banach Spaces in Hyperconvex” มีศ.ดร.สมพงษ์ ธรรมพงษา เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับทุนจาก สกว. ในช่วง ปี2547-2550
3. ทุนจากงบประมาณแผ่นดิน ชื่อโครงการ “ผลเฉลยวิเคราะห์ของสมการเชิงอนุพันธ์ฟังก์ชันนัลและอนุพันธ์ฟังก์ชันนัลบางสมการ” มี อ.ดร.ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) งบประมาณปี 2548
4. ทุนพัฒนานักวิจัย 2547 ชื่อโครงการ “การวิจัยเสถียรภาพเชิงเส้นกำกับของสมการ
เชิงอนุพันธ์และสมการเชิงผลต่างบางสมการและการวิจัยการดึงดูดของสมการเชิงผลต่างไม่เชิงเส้นบางสมการ” มี อ.ดร. ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์เป็นหัวหน้าโครงการ แหล่งทุนที่ได้รับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) ระยะเวลาที่ได้รับทุน 3 ปี
5. ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (ทุน คปก.) มีอาจารย์ที่ได้รับทุนจำนวน 2 คน คือ ศ.อำนวย ขนันไทย 1 ทุน และ รศ. ดร. สุเทพ สวนใต้ 1 ทุน

การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
งานวิจัยในส่วนนี้ได้รับงบประมาณจากคณะและมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนจำนวน 2 เรื่อง คือ
1. สื่อการสอนแบบออนไลน์ประกอบการสอนกระบวนวิชา 206104 โดยผศ.มัลลิกา ถาวรณ์อธิวาสน์ และคณะ
2. โฮมเพจชุดวิชาแคลคูลัสระดับอุดมศึกษาปีที่ 1 โดยรศ.ดร.สุเทพ สวนใต้ และคณะ

ทุนวิจัยที่ได้รับจากแหล่งทุนภายใน
ทุนอุดหนุนจากงบประมาณเงินรายได้ คณะวิทยาศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2547
1. อ.ดร.นที ทองศิริ เรื่อง “การศึกษาการใช้ Interval Arithmetic ในการแก้ปัญหาการเคลื่อนย้าย”
2. อ.ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ เรื่อง “ความล่าช้าในแบบจำลองของการเพิ่มจำนวนของเชื้อ HIV”
3. น.ส.ปัทมา จักษุรัตน์ เรื่อง “การศึกษาสาเหตุของการได้เกรด F ในกระบวนวิชา 206161”
4. ผศ.มัลลิกา ถาวรอธิวาสน์ เรื่อง “การจัดกิจกรรมเพื่อนำเข้าสู่บทเรียน 206103 และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดชั้นเรียนใหญ่และชั้นเรียนเล็กที่มีการจัดกิจกรรมกลุ่มย่อย”
5. อ.ดร.ณัฐกร สุคันธมาลา เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะเชิงคณิตศาสตร์ของลายบนผ้าทอในจังหวัดภาคเหนือ”

ห้องปฏิบัติการวิจัยและหน่วยวิจัย
1. ห้องปฏิบัติการวิจัย “พีชคณิตสากลและพีชคณิตเต็มหน่วย” มี ผศ.ดร.ศรีจันทร์ อาวรณ์เป็นผู้ประสานงาน
2. หน่วยวิจัย “คณิตศาสตร์ประยุกต์สำหรับเทคโนโลยีแห่งปัญญา” มี ศ.ดร.สมพงษ์ ธรรมพงษา เป็นผู้ประสานงาน

กิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาผ่านเครือข่ายสาขาคณิตศาสตร์
1. ได้รับทุนพัฒนาอาจารย์สำหรับบุคคลทั่วไปจำนวน 2 ทุน
2. ทุนเชิญผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาบรรยายและร่วมทำวิจัย 2 โครงการ และโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์1 โครงการ
3. อาจารย์ได้รับทุนไปทำวิจัย ณ ต่างประเทศจำนวน 1 ทุน
4. อาจารย์ได้รับทุนไปเสนอผลงาน ณ ต่างประเทศจำนวน 3 ทุน
5. จัด อบรมเชิงปฏิบัติการ Mathematics in Industry ร่วมกับภาควิชาคณิตศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค. 2547
6. จัดประชุมวิชาการประจำปีทางคณิตศาสตร์ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2547 (9th Annual Meeting in Mathematics 2004) ระหว่างวันที่ 21–22 พ.ค. 2547

ด้านวิชาการอื่นๆ
1. บุคลากรของภาควิชา 2 ท่านเป็นคณะบรรณาธิการจัดทำวารสาร Thai Journal of Mathematics โดยมี ศ.อำนวย ขนันไทย เป็นบรรณาธิการใหญ่ และ รศ.ดร.สุเทพ สวนใต้เป็นผู้จัดการบรรณาธิการ
2. อาจารย์ในภาควิชาหลายท่านเป็นบรรณาธิการวารสารต่างประเทศ และเป็น referee ให้กับวารสารทางคณิตศาสตร์ระดับนานาชาติหลายฉบับ

ด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชน
ภาควิชาคณิตศาสตร์ ได้ดำเนินกิจกรรมบริการวิชาการแก่ชุมชนโดยความร่วมมือของคณาจารย์
ในภาควิชาได้แก่ การอบรมโอลิมปิกวิชาการคณิตศาสตร์ค่าย 1 (ต.ค.46) อบรมการใช้โปรแกรม Sketchpads ช่วยในการเรียนการสอนให้แก่ครูมัธยมศึกษาตอนปลาย 2 ครั้ง (เดือนพ.ค. และต.ค 47) อบรมครูมัธยมศึกษาตอนปลายเรื่อง“ทฤษฎีกราฟและการประยุกต์และการพิสูจน์แบบอุปนัยและ นิรนัย” (มี.ค 47) อบรมครูคณิตศาสตร์มัธยมศึกษาตอนปลาย ร่วมกับ สสวท. หลักสูตร 1 ( เม.ย และพ.ค. 47)

ด้านการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา
ภาควิชาได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากค่าธรรมเนียมพิเศษของคณะวิทยาศาสตร์ กิจกรรมที่จัดเป็นกิจกรรมเพื่อเสริมความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์การทำงาน เสริมทักษะด้านการใช้คอมพิวเตอร์และเสริมความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสืบค้นวารสาร อบรมการใช้โปรแกรม LATEX เพื่อช่วยในการพิมพ์วิทยานิพนธ์ มีการสัมมนาระหว่างอาจารย์และนักศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัย และจัดสรรงบประมาณให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาไปเสนอผลงานในประเทศ 2 ทุน ต่างประเทศ 1 ทุน

ด้านการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม
คณาจารย์และบุคลากรในภาควิชาได้ร่วมอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมล้านนา ด้วยการแต่งชุดไทยทุกวันศุกร์ ไปถวายเทียนพรรษาที่วัดอินทขิล อ.แม่แตง และนักศึกษาของภาควิชาได้จัดกิจกรรมเยี่ยมน้องบ้านกิ่งแก้ว

2. จุดแข็ง - จุดอ่อน ความสำเร็จ ความคุ้มค่าคุ้มทุน

จุดแข็ง
1.มีนักวิจัยในสาขาคณิตศาสตร์ได้รับรางวัลระดับชาติ และมีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติจำนวน มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ
2. มีกลุ่มวิจัยที่มีความร่วมมือในการทำวิจัยกับนักวิจัยชาวต่างประเทศและมีกิจกรรมวิชาการอย่างต่อเนื่อง
3. มีการทำบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ 4 แห่ง
4. มีแหล่งทุนและงบประมาณพอเพียงสำหรับการสนับสนุนให้คณาจารย์ไปเสนอผลงานทั้งในและต่างประเทศ

จุดอ่อน
1. คณาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการโดยเฉลี่ยยังมีผลงานตามภาระงานต่ำกว่าเกณฑ์
2. คณาจารย์มีภาระงานสอนและกิจกรรมอื่นๆมาก ทำให้มีเวลาในการทำวิจัยน้อย
3. ไม่มีอาจารย์ขอตำแหน่งทางวิชาการเพิ่ม

ความสำเร็จ คุ้มค่า คุ้มทุน
มีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาตามแผน 86% สามารถรับนักศึกษาได้ตามแผน มีการใช้งบประมาณสนับสนุนการเรียนการสอนเป็นไปตามแผน มีอาจารย์ได้รับทุนการศึกษาและทุนวิจัยเพิ่มมากขึ้นและมีผลงานดีเด่นระดับชาติ มีนักวิชาการและนักวิจัยชาวต่างประเทศให้ความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น

3. แนวทางการพัฒนาตนเอง ภาควิชามีแนวทางเพิ่มรายได้โดยมีการจัดประชุมทางวิชาการ บริการสอนในหลักสูตรภาคพิเศษ ร่วมมือกับสวท.มช.จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในช่วงปิดภาคเรียนที่ 1/2547ี

4. แนวทางการพัฒนาในอนาคตตามนโยบายของคณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัย
1. จัดตั้งศูนย์อบรมการใช้โปรแกรม Sketchpads ให้แก่ครูมัธยมปลายเพื่อช่วยการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียน
2. สนับสนุนอาจารย์รุ่นใหม่ให้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์มากขึ้น
3. สร้างกลุ่มวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น
4. ส่งเสริมการผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประกอบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ช่วยเสริมให้นักศึกษาได้ค้นคว้าและศึกษาด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง