1. ชื่อห้องปฏิบัติการวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเซลล์สัตว์
Animal Cell Technology Research Laboratory
ภาควิชา ชีววิทยา

2. ชื่อผู้ประสานงาน อาจารย์ ดร. วีระ วงศ์คำ

3. สมาชิก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริศนา จริยวิทยาวัฒน์
อาจารย์ บุญเกตุ ฟองแก้ว


4. หลักการและเหตุผล
ร่างกายของสัตว์ประกอบขึ้นด้วยเซลล์จำนวนมาก ทั้งที่เป็นเซลล์ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เฉพาะอย่าง (differentiated cells) และเซลล์ที่ยังมีการแบ่งตัวตลอดเวลาเพื่อให้กำเนิดและทดแทนเซลล์ชนิดอื่นในร่างกายซึ่งมักจะเรียกว่า เซลล์ต้นกำเนิด (stem cells) การนำเซลล์สัตว์และมนุษย์ออกมาเลี้ยงภายนอกร่างกาย (in vitro) และนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เป็นความสำเร็จทางด้านการวิจัยและเทคโนโลยีของวงการวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านชีวภาพ แต่ทั้งนี้ความรู้พื้นฐานทางด้านชีววิทยาของเซลล์(cell biology) ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในต่างประเทศ การพัฒนาเทคนิคต่างๆเพื่อใช้ในการเลี้ยงเซลล์เพื่อการผลิตระดับอุตสาหกรรม การแพทย์ การเกษตรและปศุสัตว์ มีมานานแล้ว และในปัจจุบันเป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว สำหรับในประเทศไทย มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา ทั้งด้านพื้นฐานและประยุกต์ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีความต้องการบุคลากรที่มีความชำนาญ และการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่สนับสนุนกิจกรรมต่างๆเหล่านั้น กลุ่มผู้ร่วมวิจัยได้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยในแขนงวิชานี้และแขนงวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยจะยึดพื้นฐานการวิจัยที่ต้องใช้เซลล์เชื้อสาย (cell lines) เซลล์สายพันธ์ (cell strains) ตลอดจนเซลล์ต้นกำเนิด และเซลล์ปฐมภูมิ (primary cells) เป็นหลัก ในการพัฒนาศักยภาพในการทำการวิจัยในด้านนี้ของคณะวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

5. วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
5.1 เป็นแหล่งข้อมูลด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงเซลล์สัตว์และการนำไปใช้ประโยชน์ สำหรับภาคเหนือของประเทศ
5.2 เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของงานวิจัยทางด้านเซลล์วิทยาของสัตว์และงานที่เกี่ยวข้อง แก่คณาจารย์และนักศึกษาที่สนใจ
5.3 เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันภายนอก ทั้งในและต่างประเทศ

แนวทางการดำเนินงาน
1. จัดหาทุนสนับสนุนงานวิจัยของคณาจารย์และนักศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งจากแหล่งทุนภายในและภายนอกประเทศ
2. พัฒนาระบบวิธีการตรวจสอบและทดสอบสารออกฤทธิทางชีวภาพโดยใช้เซลล์สัตว์
3. ให้บริการทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการสอนและการวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงเซลล์สัตว์ ในทุกระดับการศึกษา เช่น ในระดับโรงเรียน นักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ทั้งจากภายในคณะวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานอื่น
4. ร่วมทำการวิจัยและแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและภายนอกประเทศ
5. นำเสนอผลงานวิจัยโดยการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในที่ประชุมวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ที่เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกประเทศ

6. งานวิจัยหลักที่กำลังดำเนินการอยู่คือ
1. การสร้างเชื้อสายเซลล์ตัวอ่อนของหนูทดลองจาก blastocyst โดยเทคนิคการใช้วัสดุยึดเกาะแบบวุ้น (The establishment of embryonic stem cell lines from mouse blastocyst, using gelatine coating technique.)
2. การตรวจหาสารประกอบที่มีฤทธิต่อต้านหนอนพยาธิและเป็นพิษต่อเซลล์จากพืชสมุนไพรท้องถิ่นใน 2 วงศ์คือ Annonaceae และ Rubiaceae (Screening for anthelminthic and cytotoxic compounds from the traditional medicinal member of the two plant families: Annonaceae and Ribiaceae.)
3. การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์สัตว์ของสารสะกัดจากสมุนไพรบางชนิดที่เป็นสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาประสิทธิภาพสารสกัดจากสมุนไพรบางชนิดที่เป็นสารกำจัดศัตรูพืช" (Improvement of the efficiency of the medicinal plant extracts for pesticide use)
4. การวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการทดสอบสารออกฤทธิทางชีวภาพที่มีผลต่อเซลล์สัตว์

7. อุปกรณ์/เครื่องมือวิจัยหลักที่มีอยู่แล้ว
1. เครื่องชั่ง (balances)
2. ตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำ
3. เครื่องกวนสารใช้ความร้อน
4. ตู้อบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
5. เครื่องช่วยดูดไปเปต
6. กล้องจุลทรรศน์ชนิดเลนส์วัตถุอยู่ด้านล่าง
7. กล้องจุลทรรศน์ฟลูโอเรสเซนต์
8. กล้องผ่าตัด
9. ตู้ปฏิบัติการปลอดเชื้อ
10. เครื่องอ่านค่าการดูดกลืนแสงจากจานเลี้ยงเซลล์
11. ตู้เย็น
12. เครื่องปั๊มสุญญากาศ
13. เครื่องแก้ว พลาสติก และสารเคมี ต่างๆ

8. ผลสัมฤทธิ์ทางการวิจัยที่จะขอต่อหรือจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัย
ในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการนี้คณะผู้วิจัยได้มีจุดมุ่งหมายและพยายามอย่างยิ่งในการรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนครุภัณฑ์ต่างๆเท่าที่มีอยู่โดยการใช้งบประมาณของทางราชการที่ได้จัดหาไว้ส่วนหนึ่ง โดยผ่านทางภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งก็ได้รับงบประมาณช่วยเหลือ รวมทั้งการสนับสนุนในการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาให้คำแนะนำในด้านต่างๆ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ทุนอุดหนุนการวิจัยจากดอกผลกองทุนคณะวิทยาศาสตร์ประจำปี 2542 เป็นระยะเวลา 1 ปี (พ.ศ. 2542-43) (ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการสรุปผลและจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์)
ชื่อโครงการวิจัย คือ การสร้างเชื้อสายเซลล์ตัวอ่อนของหนูทดลองจาก blastocyst โดยเทคนิคการใช้วัสดุยึดเกาะแบบวุ้น (The establishment of embryonic stem cell lines from mouse blastocyst, using gelatine coating technique.)
2. ทุนสนับสนุนในการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญจาก The Royal Society of Science ประเทศอังกฤษ ภายใต้โครงการ NASCENT Project (Novel Antiparasitic Secondary Compounds Ex-Northern Thailand) (พ.ศ. 2544)
3. ทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างทบวงมหาวิทยาลัยกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ระยะเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2545-2547)
ชื่อโครงการวิจัย คือ การตรวจหาสารประกอบที่มีฤทธิต่อต้านหนอนพยาธิและเป็นพิษต่อเซลล์จากพืชสมุนไพรท้องถิ่นใน 2 วงศ์คือ Annonaceae และ Rubiaceae (Screening for anthelminthic and cytotoxic compounds from the traditional medicinal member of the two plant families: Annonaceae and Rubiaceae.)
4. ทุนศึกษางานวิจัยและเก็บข้อมูลทางชีววิทยา ณ King's College London, University of London และ Queens Medical Center, University of Nottingham ประเทศอังกฤษ ภายใต้หัวข้อ The effect of extracts from some medicinal plants on Schistosomes and their molluscan host (พ.ศ. 2546) ระยะเวลา 5 สัปดาห์ จาก
4.1 งบประมาณเงินรายได้ ประจำปี 2545 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4.2 The Royal Society of Science ประเทศอังกฤษ
4.3 King's College London, University of London, ประเทศอังกฤษ
4.4 FRAME Alternatives Laboratory, School of Biomedical Sciences, University of Nottingham, ประเทศอังกฤษ

9. ผลงานวิจัย
ก. ผลงานวิจัยที่เสนอในการประชุมระดับชาติ
1. เรื่อง"ผลของสารสกัดด้วยเอธิลอัลกอฮอลล์จากกานพลูต่อหนอนตัวกลม Caenorhabditis elegans การประชุม วทท. ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2545 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

ข. ผลงานวิจัยที่เสนอในการประชุมระดับนานาชาติ
1. เรื่อง"Toxicity assay of ethanolic crude extract from Mammia siamensis Kost." การประชุม The 3rd World Congress on Medicinal and Aromatic Plants for Human Welfare ระหว่างวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2546 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
2. เรื่อง" Ultrastructure of host/parasite interface between Pallisentis rexus Wongkham and Whitfield, 1999 and Mesocyclops aspericornis Daday." การประชุม The 20th Annual Conference of EMST ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2546 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย
3. เรื่อง"The egg envelope ultrastructure of the Eoacanthocephalan, Pallisentis rexus Wongkham and Whitfield (1999)" การประชุม The 3rd ASEAN Microscopy Conference and 19th Annual Conference of EMST ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2545 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย