Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. : เสริมสร้างคุณค่าให้กากอุตสาหกรรมไทย

"งานวิจัยที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำสิ่งที่ไร้ค่า
ให้กลับมามีคุณค่า และเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม"

 

ผลงานวิจัยการนำกากอุตสาหกรรมมาทำเป็น
> กระเบื้องเลียนแบบหินแกรนิตในธรรมชาติ 
> แก้วพรุนในอุตสาหกรรมเลี้ยงปลา 
> และฉนวนความร้อนสำหรับอาคารบ้านเรือน
โดย ภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มช.

 

ชมคลิป เสริมสร้างคุณค่าให้กากอุตสาหกรรมไทย
 


 


ชมคลิป เสริมสร้างคุณค่าให้กากอุตสาหกรรมไทย (full version) 

           ผศ.ดร.วรพงษ์ เทียมสอน อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยที่ศึกษาคิดค้นวัสดุใหม่นี้ ได้ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าในการผลิตอุตสาหกรรมเซรามิกในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องของวัตถุดิบธรรมชาติที่เริ่มร่อยหรอลง และคุณภาพของวัตถุดิบทางด้านเซรามิกที่มีคุณภาพไม่คงที่ นักวิจัยจึงได้มองหาสิ่งรอบตัวในธรรมชาติ ในชีวิตประจำวัน ว่าจะมีวัตถุดิบส่วนไหนบ้างที่จะสามารถทดแทนวัตถุดิบธรรมชาติได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์ได้เข้ามาทดลองศึกษาเศษหรือกากจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

โดยปกติแล้วในภาคอุตสาหกรรมเมื่อมีการผลิต ก็มักจะมีกากเหลือทิ้งทั้งมีพิษและไม่มีพิษ ผู้วิจัยจึงมองว่า หากเราสามารถหยิบเอากากอุตสาหกรรมเหล่านี้มาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตวัสดุเซรามิกได้ในอนาคต ก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะตอบโจทย์การรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยให้ได้ประโยชน์จากกระบวนการผลิต กลายเป็นวัสดุประเภทใหม่ขึ้นมาใช้งานเฉพาะด้าน

อุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยากจะเข้าถึง ก็คืออุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเรามีฐานการผลิตในปริมาณสูง โดยตั้งต้นจากกากอุตสาหกรรม 2 ชนิด ที่มีมากและก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง ก็คือเศษกระจกหรือเศษแก้ว และเศษตะกรันจากกระบวนการหลอมโลหะ ซึ่งกาก 2 ชนิดนี้เป็นกากอนินทรีย์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่ความโชคดีของกาก 2 ชนิดนี้ ก็คือมีความสะอาดและไม่เป็นพิษ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็จะเป็นวัสดุที่มีความสะอาดและไม่มีพิษ ก็เลยมุ่งเป้าอยู่ที่อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเป็นอันดับแรก

งานวิจัยเริ่มแรกในการใช้กากอุตสาหกรรม เศษกระจก และเศษตะกรัน ก็คือการทำเป็นกระเบื้องที่เลียนแบบหินแกรนิตในธรรมชาติ สำหรับงานชิ้นที่ 2 นั้น เกิดจากการสำรวจในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง พบว่าอุตสาหกรรมเลี้ยงปลาเศรษฐกิจเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น ผู้วิจัยจึงอยากพัฒนาคุณภาพน้ำด้วยกระบวนการที่ไม่ใช้สารเคมี แต่เป็นกระบวนการกรองและใช้สารบางชนิดที่สามารถยับยั้งแบคทีเรียในน้ำได้ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยที่เป็นแก้วพรุนในอุตสาหกรรมเลี้ยงปลา ส่วนงานชิ้นที่ 3 นั้นมีที่มาจากการที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน อาคารบ้านเรือนจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศอย่างต่อเนื่อง หากเราสามารถลดความร้อนที่เข้ามาในอาคารได้ ก็จะสามารถลดการใช้เครื่องปรับอากาศ และลดการใช้ปริมาณไฟฟ้า โดยเฉพาะช่วงกลางวันที่มีความร้อนสูงได้ จึงเป็นที่มาในการคิดค้นวัสดุที่จะเป็นฉนวนความร้อนสำหรับอาคารบ้านเรือน

อาจารย์กล่าวเสริมอีกว่า “สิ่งที่เราคิดค้นขึ้นไม่ได้เป็นวัสดุที่วิเศษกว่าวัสดุประเภทอื่น เพียงแต่เป็นวัสดุทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้ สมบัติบางอย่างอาจจะไม่ได้โดดเด่นมากนัก สมบัติบางอย่างอาจจะต้องมีการพัฒนาต่อ เพียงแต่ผลจากการวิจัยจะเป็นทางเลือกที่ทำให้หลายๆ ภาคส่วนมองเห็นคุณค่าของกากอุตสาหกรรม มองเห็นความสำคัญของกระบวนการคิด มองเห็นถึงประบวนการความร่วมมือทั้งภาคเอกชนและภาครัฐในการที่จะพัฒนาวัสดุใดๆ ขึ้นมา ทำให้เราสามารถสร้างประโยชน์จากสิ่งที่ไม่มีค่าให้เป็นสิ่งที่มีค่าได้”

โครงการศึกษาวิจัยนี้ อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งยังต้องการการศึกษา การพัฒนาต่อยอด และการสนับสนุน เพื่อให้สามารถผลิตและจัดจำหน่ายได้จริงในอนาคต แต่ ณ วันนี้ เราได้เห็นถึงความสำเร็จในการนำ “ขยะ” ที่ไม่มีใครเห็นค่า มาสร้างสรรค์เป็นวัสดุแบบใหม่ที่ใช้งานได้จริงและเป็นมิตรกับธรรมชาติ และอาจจะกลายเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคต ด้วยกระบวนการศึกษาและค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า เราจะสร้างสิ่งใหม่เพื่อทดแทนวัตถุดิบในธรรมชาติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติได้อย่างไร 

ติดตามชม Research VDO Series 55 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช. และ vdo clip อื่นๆ ของคณะได้ที่ Youtube : Science CMU Official  

2019 #55thAnniversaryScienceCMU
Research@Sci From Sky To Rock
Studying@Sci E x p a n d i n g Your Mind

 


วันที่ : 29 มี.ค. 2019





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว