นักศึกษาชีววิทยา คณะวิทย์ มช. นำผลงานวิจัยการเพิ่มระดับพลังงานและการชะลอการเกิดเปลือกผลสีน้ำตาลของลำไยคว้ารางวัล 2018 IFABL Distinguished Paper Award ที่ญี่ปุ่น

          นายธนากร วิชัยยา  นักศึกษาในโครงการ พสวท. ระดับปริญญาโท ชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัล 2018 IFABL Distinguished Paper Award ในการประชุมวิชาการนานาชาติ 2018 International Forum-Agriculture, Biology, and Life Science-Summer Session (IFABL-summer 2018) ซึ่งจัดโดย Chihlee University of Technology, Taiwan ร่วมกับ Hokkaido University, Japan ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2561 ณ Sapporo Convention Center, Sapporo, Hokkaido, Japan   

ผลงานนำเสนอปากเปล่าที่ได้รับรางวัล คือ การวิจัยหัวข้อ "Application of exogenous adenosine triphosphate elevated energy level and delayed pericarp browning of harvested ‘Daw’ longan fruit" (การให้ ATP จากภายนอกเพิ่มระดับพลังงานและชะลอการเกิดเปลือกผลสีน้ำตาลของลำไยพันธุ์ดอหลังเก็บเกี่ยว) ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กอบเกียรติ แสงนิล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ อุทัยบุตร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม 

งานวิจัยดังกล่าว มุ่งศึกษาสาเหตุของการเกิดเปลือกผลสีน้ำตาลของลำไย โดยเปลือกผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำอย่างรวดเร็ว และผลเน่าเสียง่ายภายหลังการเก็บเกี่ยวไม่กี่วัน ทำให้คุณภาพผลด้อยลง และมีอายุการวางจำหน่ายสั้นลงกระทบการส่งออก โดยสันนิษฐานว่าพลังงานภายในเกี่ยวข้องกับความมีชีวิตของผล โดยพลังงานจะลดระดับลงเมื่อผลเสื่อมตามอายุ เมื่อทดลองให้พลังงานในรูปสารละลาย adenosine triphosphate (ATP) จากภายนอกแก่ผลลำไย พบว่าสามารถเพิ่มระดับพลังงานภายในให้สูงขึ้น และเปลือกผลเกิดสีน้ำตาลช้าลง รวมทั้งลดความเสียหายจากออกซิเดชันและปริมาณอนุมูลอิสระบางชนิดที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ 

ผลการทดลองนี้สนับสนุนผลงานวิจัยของห้องปฏิบัติการวิจัยที่ผ่านมา ซึ่งรายงานว่า การที่ก๊าซคลอรีนไดออกไซด์สามารถลดและชะลอการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกผลได้นั้น สันนิษฐานว่าก๊าซนี้มีผลเพิ่มระดับพลังงานภายในของผลให้สูงขึ้น และเพิ่มศักยภาพของระบบการป้องกันตนเองจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยงานวิจัยทั้งสองนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การพัฒนาทดแทนการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยก๊าซคลอรีนไดออกไซด์ในผลลำไยสดเพื่อควบคุมคุณภาพผลและยืดอายุการวางจำหน่ายผลลำไยหลังเก็บเกี่ยว” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อลดหรือทดแทนการใช้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยการนำก๊าซคลอรีนไดออกไซด์มาใช้เป็นทางเลือกทดแทนก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปัจจุบันยังใช้รมผลลำไยเพื่อการส่งออก อันจะเป็นประโยชน์และส่งผลดีต่อสุขภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และธุรกิจเชิงพาณิชย์ของประเทศในอนาคตต่อไป     

ขอบคุณข่าวจาก ภาควิชาชีววิทยา 


วันที่ : 22 ส.ค. 2018





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว