ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาฯ มช. จับมือ สทน. และหน่วยงานต่างประเทศ ร่วมพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านนิวเคลียร์ฟิวชันในอาเซียน

         วันที่ 29 มกราคม 2561 ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาฯ มช. จับมือ สทน.CEA France  และ NIFS Japan เปิดโครงการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรวิจัยทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันในอาเซียน ประจำปี 2561 มุ่งสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาศักยภาพการวิจัยด้านนิวเคลียร์ฟิวชันในอาเซียนร่วมกัน ณ ห้องสัมมนา ชั้น 2 อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มช.

ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (PBP) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) หน่วยงาน CEA France (French Alternative Energies and Atomic Energy Commission) และสถาบัน NIFS Japan (National Institute for Fusion Science) จัดโครงการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรวิจัยทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันในอาเซียน ประจำปี 2561 (ASEAN School on Plasma and Nuclear Fusion 2018) โดยได้รับเกียรติจาก  รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี และมีผู้บริหารจาก สทน. NIFS, CEA ตลอดจนศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร. ธีรวรรณ บุญญวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาฯ  รวมทั้งอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาจากสถาบันทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมพิธีเปิดโครงการ ประมาณ 80 คน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ณ ห้องสัมมนา ชั้น 2 อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ โดยโครงการจะจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561

โครงการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรวิจัยทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันในอาเซียน เป็นโครงการที่มุ่งสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนิวเคลียร์ฟิวชันร่วมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพด้านนิวเคลียร์ฟิวชันร่วมกัน สืบเนื่องจากในปัจจุบันจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พลังงานที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอกับความต้องการในระยะยาว การพัฒนาพลังงานใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรโลกในอนาคต

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าความสนใจในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ผลิตไฟฟ้าจะมีอย่างต่อเนื่อง แต่ความรู้ความเข้าใจทางด้านนิวเคลียร์ขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านนิวเคลียร์ฟิวชันยังไม่เพียงพอและไม่แพร่หลาย ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินกิจกรรมการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งส่งเสริมบุคลากรวิจัยร่วมกับ CEA France  ประเทศฝรั่งเศส ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือวิจัยด้านนิวเคลียร์ฟิวชันด้วยสนามแม่เหล็กมาตั้งแต่ปี 2551 และยังมีความร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์ฟิวชันแห่งชาติ (NIFS) ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ความร่วมมือระหว่างกันอยู่แล้วด้วย

โครงการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรวิจัยทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันในอาเซียน (ASEAN School on Plasma and Nuclear Fusion) จึงมีความสำคัญยิ่งในการสร้างเครือข่ายวิจัยด้านนิวเคลียร์ฟิวชันด้วยสนามแม่เหล็กร่วมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน และเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สนใจการศึกษาวิจัยทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชันมากยิ่งขึ้น


วันที่ : 29 ม.ค. 2018





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว