งานแถลงข่าวห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ มช. ได้รับการรับรองระบบการจัดการคุณภาพ ISO 13485 และการถ่ายทอดเทคโนโลยี

       มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) แถลงข่าว “ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือ 4 หน่วยงาน ได้รับการรับรองระบบการจัดการคุณภาพ ISO 13485 และการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม หัวหน้าห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพ มช. และหัวหน้าทีมวิจัย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านวิจัย ปฏิบัติงานแทนอธิการบดีด้านวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ดร.วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวถึงความสำเร็จดังกล่าว นอกจากนี้ คุณฉัตวิทัย ตันตราภรณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท TÜV SÜD ประเทศไทย (จำกัด) ยังได้มอบใบรับรองระบบการจัดการคุณภาพ ISO 13485 ให้กับห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ มช. โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ณ 137 พิลลาร์เฮาส์ เชียงใหม่
 
ปัจจุบันประเทศไทยต้องสั่งซื้อ “เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” มาจากต่างประเทศ และนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์พร้อมใช้ ซึ่งอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมปลายน้ำของพลาสติกที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงมาก มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แนวโน้มการขยายตัวคาดว่าจะต่อเนื่องไปในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องการการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพลาสติกและนวัตกรรมใหม่ในการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ คณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเกรดทางการแพทย์ โดยใช้วัตถุดิบชีวมวลที่เป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นมูลค่าต่ำในประเทศ เพื่อนำไปใช้เป็นเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ (Biomaterials) หรือเครื่องมือแพทย์ (medical devices) วัสดุเหล่านี้สามารถย่อยสลายได้ในร่างกายผู้ป่วย ไม่ต้องผ่าตัดนำออกมาจากร่างกาย

ด้วยเหตุดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จึงได้ร่วมมือกันสนับสนุนงบประมาณ เป็นเงิน 28 ล้านบาท เพื่อสร้าง “ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ (Bioplastics Production Laboratory for Medical Applications)” คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์คุณภาพสูงมาตรฐานสากลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยนักวิจัยไทย

“ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์” เป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO13485 (ระบบบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ Medical devices-Quality management systems - Requirements for regulatory purposes) จากบริษัท TÜV SÜD ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขอบเขต “Design and Development, Production and Distribution of Medical Polymers” เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเกรดทางการแพทย์ ดำเนินการในห้องสะอาด (cleanroom) ตามมาตรฐานระดับนานาชาติ คือ ASTM F1925-09 (Standard Specification for Semi-Crystalline Poly (lactide) Polymer and Copolymer Resins for Surgical Implants) ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพของประเทศไทยเองโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ ตามสิทธิบัตรประเทศสหรัฐอเมริกา เลขที่ US 9,637,507 B2 (May 2017) ใช้วัตถุดิบชีวมวลที่เป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบตั้งต้นมูลค่าต่ำในประเทศ โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ผลักดันในการนำเทคโนโลยีที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นมานี้ไปต่อยอด เพื่อผลิตพอลิเมอร์เกรดทางการแพทย์เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการได้ผ่านการรับรองระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก. 2677-2558)” ภายใต้โครงการจัดทำกระบวนการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อีกด้วย

เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพประเภทพอลิเอสเทอร์เกรดทางการแพทย์ที่สามารถผลิตได้ในห้องปฏิบัติการ ตัวอย่างเช่น พอลิ (แอล-แลคไทด์) (พีแอลแอล) และพอลิ (แอล-แลคไทด์-โค-คาโปรแลคโทน) (พีแอลซี) มีชื่อทางการค้า คือ CMU-Bioplasorb® PLA และ CMU-Bioplasorb® PLC (รูปที่ 6) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ เช่น ไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ท่อนำเส้นประสาท ตัวควบคุมการปลดปล่อยตัวยาภายในร่างกาย และเครื่องมือแพทย์ เช่น วัสดุทางทันตกรรม สกรูและแผ่นดาม ถ้าสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตวัสดุดูดซึมได้ในทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานรับรองและผลิตได้เองในประเทศ ก็จะสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างเศรษฐกิจที่ดีด้วยนวัตกรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างทางเลือกในการรักษาให้กับแพทย์และผู้ป่วย โครงการวิจัยนี้สนับสนุนนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 ซึ่งได้กำหนดให้มีการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในส่วนของอุตสาหกรรมใหม่ (The New S-Curves) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ให้มีศักยภาพรองรับการแข่งขันในอนาคต ด้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels & Biochemical) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ทำให้นักวิจัยในประเทศไทยรวมทั้งผู้ประกอบการด้านวัสดุทางการแพทย์สามารถซื้อเม็ดพลาสติกได้กิโลกรัมละประมาณ 80,000-90,000บาท เป็นราคาที่ถูกกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 150,000-200,000บาท จึงเป็นโอกาสดีที่จะผลิตเพื่อส่งออกและชดเชยการนำเข้าและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับภายใต้มาตรฐานสากล ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจาในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ปตท. จากัด (มหาชน) และทดสอบตลาด ซึ่งหากมีผู้สนใจนำเม็ดพลาสติกชีวภาพไปวิจัยและพัฒนาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สามารถติดต่อซื้อได้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
       
ปัจจุบันคณะผู้วิจัยร่วมมือกับทีมแพทย์และสัตวแพทย์ ในการนำเม็ดพลาสติกชีวภาพดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดโดยการขึ้นรูปเป็นไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสโดยระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย จึงช่วยลดขั้นตอนในการรักษา ทำให้ไม่ต้องทำการผ่าตัดซ้ำ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและไม่ต้องทนเจ็บปวดหลายครั้ง ทั้งนี้สามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ 100%
 
หน่วยงานจำหน่ายเม็ดพลาสติกชีวภาพเกรดทางการแพทย์
อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP)

ชั้น 2 อาคารวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ 053-942088-91 ต่อ 308
มือถือ 081-9696919
แฟกซ์ 053-942088-91 ต่อ 413
อีเมล thashisa @step.cmu.ac.th

ข้อมูลเพิ่มเติม (กำหนดการ/คำกล่าว) คลิกที่นี่

 


วันที่ : 30 ต.ค. 2017





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว