นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลขาวชนิดใหม่ของโลก

     ศาสตราจารย์ ดร.สายสมร ลำยอง ดร.นครินทร์ สุวรรณราช และ ดร.จตุรงค์ คำหล้า คณะนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ คณะวิทยาศาสตร์ เปิดเผยในงานแถลงข่าว ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงาน มช. ว่า คณะนักวิจัยได้ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลขาวชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อสามัญว่า “เห็ดทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์” โดยงานแถลงข่าวดังกล่าวได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดการแถลงข่าว และรองศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวแสดงความยินดีกับคณะนักวิจัย 

คณะนักวิจัยได้ให้ข้อมูลว่า เห็ดทรัฟเฟิล (truffle) เป็นราที่จัดอยู่ในสกุล Tuber (ทู-เบอร์) โดยปกติแล้วเป็นราเอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhizal fungi) ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณรากไม้ทั้งไม้พุ่มและไม้ยืนต้นในวงศ์ก่อและสน เส้นใยเห็ดทรัฟเฟิลช่วยส่งเสริมการเจริญของพืชอาศัยและสร้างดอกเห็ดใต้ดิน สามารถบริโภคได้และถือว่าดอกเห็ดที่ได้มีราคาแพงมากที่สุดในโลก เนื่องจากดอกเห็ดมีกลิ่นเฉพาะ ราคาของเห็ดทรัฟเฟิลเริ่มตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนต่อกิโลกรัม โดยขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดทรัฟเฟิล กลิ่นที่เห็ดทรัฟเฟิลสร้างมานั้น พบว่าประกอบด้วยสารกลุ่มแอลกอฮอล์และเอสเตอร์มากกว่า 50 ชนิด ซึ่งชนิดหลักได้แก่ 2,4-Dithiapentane (C3H8S2) หรือ Bis-(methylsulfanyl)-methane นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นสารระเหยที่พบในอาหารสัตว์ ซึ่งสามารถกระตุ้นความหิวของสัตว์ได้ ดังนั้นการค้นหาเห็ดทรัฟเฟิลตามธรรมชาติอาศัยความสามารถในการดมกลิ่นของสัตว์ เช่น สุนัข สุกร ในการค้นหา โดยเห็ดทรัฟเฟิลดำเพอริกอร์ด [Périgord black truffle; Tuber melanosporum (ทู-เบอร์ มี-ลา-โน-สปอร์-รัม)] เห็ดทรัฟเฟิลขาวอิตาเลียน [Italian white truffle; Tuber magnatum (ทู-เบอร์ แม็ก-นา-ตัม)] เห็ดทรัฟเฟิลฤดูร้อน [Summer truffle; Tuber aestivum (ทู-เบอร์ เอส-ติ-วัม)] ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารยุโรปที่มีราคาแพง เห็ดทรัฟเฟิลขาวอเมริกา [Oregon whitish truffle; Tuber oregonense (ทู-เบอร์ ออ-รี-กอน-เอน-เซ่) และ Tuber gibbosum (ทู-เบอร์ จิบ-บอ-ซัม)] นิยมเก็บและค้าขายในทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในทวีปเอเชียเห็ดทรัฟเฟิลดำ Tuber indicum (ทู-เบอร์ อิน-ดิ-คัม) เป็นที่นิยมค้าขายในประเทศจีน ปัจจุบันมีการทดลองค้นคว้าวิจัยและเพาะเลี้ยงเห็ดทรัฟเฟิลกับกล้าไม้เพื่อผลิตดอกเห็ดในเชิงการค้า และประสบความสำเร็จในอิตาลี ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา แต่ยังมีการศึกษาที่น้อยในทวีปเอเชีย

การศึกษาเห็ดทรัฟเฟิลในทวีปเอเชีย เริ่มมีมาตั้งแต่หลายสิบปีก่อนหน้านี้ และ Tuber indicum เป็นเห็ดทรัฟเฟิลชนิดแรกที่พบในพื้นที่เทือกเขาหิมาระยัน ประเทศอินเดีย ต่อมามีการค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลชนิดใหม่ๆ มากกว่า 25 ชนิด ในประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน โดยนักเห็ดราวิทยาทั่วโลกได้ประเมินว่าในทวีปเอเชียมีความหลากหลายของเห็ดทรัฟเฟิลที่สูงแต่ยังมีการศึกษาและการค้นพบที่น้อย

ทีมวิจัยเห็ดราขนาดใหญ่ ห้องปฏิบัติการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สายสมร ลำยอง เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการ และได้เริ่มศึกษาความหลากหลายของเห็ดราขนาดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันก็ร่วม 18 ปีมาแล้ว โดยเน้นภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยที่เป็นเห็ดป่าธรรมชาติ พบเห็ดราขนาดใหญ่มากกว่า 8,060 ชนิด มากว่า 60 ชนิดที่เป็นชนิดใหม่ของโลก และมากกว่า 10 ชนิด ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย จากแหล่งทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ในปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.สายสมร ลำยอง ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หนึ่งในคณะผู้วิจัยเห็ดราวิทยาภายใต้ทุนวิจัยดังกล่าว คือ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช และ ดร.จตุรงค์ คำหล้า สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลขาวครั้งแรกในประเทศไทยที่พบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีชื่อว่า Tuber thailandicum (ทู-เบอร์ ไทย-แลนด์-ดิ-คัม) เมื่อปี พ.ศ. 2557 ถูกเผยแพร่ในวารสารวิจัยระดับนานาชาติ Mycological Progress เล่มที่ 14 ประจำเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2558 และทีมวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขอกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานชื่อสามัญของเห็ดชนิดดังกล่าว จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับพระราชทานนามว่า “เห็ดทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์” ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้นักเห็ดราวิทยาเชื่อมาตลอดว่าเห็ดทรัฟเฟิลสามารถพบได้ในทวีปอเมริกายุโรป และเอเชียในเขตหนาวเท่านั้น ซึ่งจะไม่พบในเขตร้อนอย่างพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นเห็ดทรัฟเฟิลชนิดแรกที่พบอยู่ในภูมิศาสตร์ของเส้นละติจูดที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบจากการรายงานการค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลทั่วโลก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 คณะผู้วิจัยเดียวกันค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลที่เป็นชนิดใหม่อีกหนึ่งชนิด คือ Tuber lannaense (ทู-เบอร์ ลาน-นา-เอน-เซ่) ซึ่งถือเป็นตัวที่สองของประเทศไทย ซึ่งถูกเผยแพร่ในวารสารวิจัยระดับนานาชาติ Mycological Progress เล่มที่ 15 ประจำเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2559 และในปี พ.ศ. 2560 ล่าสุดคณะผู้วิจัยได้ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลขาวอิตาเลี่ยน Tuber magnatum (ทู-เบอร์ แม็ก-นา-ตัม) ซึ่งเห็ดชนิดนี้ถือได้ว่ามีราคาแพงที่สุดในโลก โดยการค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลทั้งสามชนิดนี้ถือว่าเป็นการพบเห็ดทรัฟเฟิลครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การศึกษาวิจัยทรัฟเฟิลของทางคณะวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เนื่องจากเห็ดทรัฟเฟิลมีราคาแพง ในอนาคตทางคณะวิจัยมุ่งเน้นถึงการพัฒนาการเพาะปลูกเห็ดทรัฟเฟิลที่พบในประเทศไทยในระบบฟาร์มสีเขียวภายใต้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อการค้า เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดรายได้ของคนในพื้นที่ การลงทุนของผู้สนใจ เพื่อผลิตเป็นเห็ดเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ เห็ดทรัฟเฟิลเป็นเห็ดที่มีความพิเศษและแตกต่างจากเห็ดที่เรารับประทานกันโดยทั่วไปอย่างเห็ดหอม เห็ดฟาง หรือเห็ดออรินจิ โดยเห็ดเหล่านี้จะเจริญอยู่ตามขอนไม้หรือซากใบไม้ต่างๆ แต่เห็ดทรัฟเฟิลจะเจริญเติบโตอยู่ใต้ดิน และจะอยู่กับรากต้นไม้บางชนิดเท่านั้น หน้าที่ของเห็ดทั้งสองกลุ่มนี้ก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือเห็ดชนิดอื่นจะทำหน้าที่ย่อยสลายซาก แต่เห็ดทรัฟเฟิลกลับทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารในดินให้กับพืชที่มันอาศัยอยู่ด้วย ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของเห็ดทรัฟเฟิล คือ มีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์

เห็ดทรัฟเฟิลที่คณะวิจัยค้นพบ มี 2 ชนิดที่เป็นเห็ดทรัฟเฟิลชนิดใหม่ของโลก คือ “เห็ดทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์” และอีกชนิดหนึ่งคือ Tuber lannaense ส่วนเห็ดทรัฟเฟิลอีกชนิดไม่ใช่เห็ดทรัฟเฟิลชนิดใหม่ของโลก หากแต่เป็นเห็ดทรัฟเฟิลชนิดที่แพงที่สุดในโลก นั่นคือเห็ดทรัฟเฟิลขาวอิตาเลี่ยนที่มีราคาสูงถึง 160,000 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งตามทฤษฎีแล้วจะสามารถพบเห็ดทรัฟเฟิลได้ตามประเทศเขตหนาวหรือเขตอบอุ่นเพียงเท่านั้น แต่ในครั้งนี้กลับพบในประเทศไทยที่เป็นเขตร้อนชื้น การค้นพบในครั้งนี้จึงถือเป็นการหักล้างทฤษฎีความเชื่อที่เคยมีมา ทางคณะวิจัยจึงมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาพัฒนาการทำฟาร์มเพาะพันธุ์เห็ดทรัฟเฟิลเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการเกษตรกรรมไทยในอนาคต


ขอบคุณภาพส่วนหนึ่งจาก http://www.prcmu.cmu.ac.th/activity_detail.php?act_id=5530
 
 


วันที่ : 4 ก.ย. 2017





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว