อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มช. คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2560

        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นผู้สมควรได้รับ “รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2560” โดยจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท

เมื่อวันที่ 
26 กรกฎาคม 2560 มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดแถลงข่าวที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เพื่อเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2560 ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 35 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และรองศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ในปี พ.ศ. 2526 เพื่อผลักดันให้เกิดรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” ขึ้น และเนื่องจากทางมูลนิธิฯ ได้พิจารณาเห็นว่ามีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพสูง มีผลงานที่มีคุณภาพ สมควรได้รับการสนับสนุนและให้กำลังใจในการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสะสมผลงานที่มีคุณภาพและพัฒนาไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในอนาคต จึงได้จัดให้มีรางวัล “นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา อีกทั้งเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติผลงานของนักวิทยาศาสตร์ไทย อันจะเป็นแบบอย่างให้แก่เยาวชนได้เจริญรอยตาม
 
สำหรับปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 4 ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2560 จากผลงาน “ตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง...สู่สังคมปลอดมลพิษ” โดยงานวิจัยนี้ได้มุ่งเน้นการเสาะหาวิธีสังเคราะห์และการประยุกต์ใช้สารประกอบตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง ในกระบวนการการกำจัดสารปนเปื้อนในน้ำ รวมถึงการสังเคราะห์สารอินทรีย์ที่มีมูลค่าต่างๆ สารประกอบตัวเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้เมื่อได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ จะช่วยทำให้เกิดปฏิกิริยาเร่งด้วยแสง (Photocatalysis) ที่มีประสิทธิภาพในย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ หรืออาจนำมาประยุกต์ใช้ในการสังเคราะห์สารอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวที่ให้ความหลากหลายและเหมาะสมต่อการประยุกต์ใช้งานแต่ละประเภทยังคงเป็นไปได้ค่อนข้างยากและซับซ้อนในปัจจุบัน ทางห้องปฏิบัติการวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงของ
 ผศ.ดร.บูรภัทร์และทีมวิจัย จึงได้พยายามค้นคว้าหาเทคนิคและแนวทางในการสังเคราะห์แบบใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างสารประกอบคอมโพสิตระดับนาโน (Nanocomposite) เพื่อมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยงานวิจัยด้านนี้  ผศ.ดร.บูรภัทร์ได้ดำเนินการต่อเนื่องมายาวนานกว่า 7 ปี และถึงแม้จะยังคงเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ แต่ก็มีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในวงการวิจัยระดับนานาชาติ โดยจนถึงปัจจุบัน ผศ.ดร.บูรภัทร์ มีบทความวิชาการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติระดับสูงที่ปรากฏในฐานข้อมูล Scopus มากกว่า 32 ฉบับ
 
สำหรับผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปีนี้ มีจำนวน 4 ท่าน โดยนอกเหนือจาก ผศ.ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร แล้ว ยังมีนักวิจัยผู้ได้รับรางวัลอีก 3 ท่าน คือ รศ.ดร.เบญจพล เฉลิมสินสุวรรณ จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.วโรดม เจริญสวรรค์ จากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผศ.ดร.วิบุญ ตั้งวโรดมนุกูล จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2560 นั้น คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกให้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล” จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ได้รับรางวัล

ในการนี้ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย วิโรจนุปถัมภ์ ได้ไปร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลในงานแถลงข่าวดังกล่าวด้วย


ขอบคุณภาพและข่าวจากภาควิชาเคมี


วันที่ : 28 ก.ค. 2017





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว