นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มช. สร้างสรรค์งานวิจัยใหม่ มุ่งแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน เพื่อท้องถิ่นภาคเหนือ

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์พหุวิทยาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาพ ชูพันธ์ และอาจารย์ ดร.ว่าน วิริยา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM10 และ PM2.5 ณ ศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งติดตั้งเพื่อศึกษาวิจัยปัญหาหมอกควัน ตามโครงการวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน โครงการย่อยที่ 4 ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน่วยข้อมูลหมอกควันเพื่อการวิจัยและการประชาสัมพันธ์  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 

โครงการวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย กลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ซึ่งนักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการย่อยที่ 4 ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน่วยข้อมูลหมอกควันเพื่อการวิจัยและการประชาสัมพันธ์ โดยได้มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM10 และ PM2.5 ณ ศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนหนองห้ามิตรภาพที่ 125 อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งได้รับความร่วมมือจากประเทศไต้หวันในการติดตั้งเครื่องมือดังกล่าว  โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM10 และ PM2.5 ในอากาศ ตลอดจนนำตัวอย่างฝุ่นไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี ความเป็นพิษของฝุ่น เพื่อใช้ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหมอกควัน และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันต่อไป

ทั้งนี้ในการแถลงข่าวคณะนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ระบุว่า มลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ได้แก่ ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะการก่อโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งการเกิดหมอกควันในภาคเหนือเริ่มมีแนวโน้มที่สูงขึ้น สาเหตุเพราะมีการเผาในที่โล่งทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงต้นปีประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศสูงที่พาดผ่านพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้หลายพื้นที่มีอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง สภาพความกดอากาศสูง อุณหภูมิต่่า จึงก่อให้เกิดหมอกในตอนเช้า เมื่อหยดน้่าในอากาศรวมตัวกับฝุ่นละอองและสารมลพิษในอากาศเกิดเป็นลักษณะของ smog ขึ้น จึงเกิดสภาพฟ้าหลัว ส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยและสุขภาพ

การแก้ปัญหาหมอกควันต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ เพื่อทำความเข้าใจกับการเกิดมลพิษ การเคลื่อนที่ และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเกิดฝน เนื่องจากการปล่อยปริมาณฝุ่นและแอโรโซลเป็นปริมาณมากขึ้นสู่บรรยากาศในช่วงการเผา ซึ่งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว จากองค์ความรู้ที่มีอยู่จำกัดจึงทำให้ไม่สามารถอธิบายและคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคตได้

ดังนั้นการศึกษานี้ จึงมุ่งหวังสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อศึกษาสมบัติและลักษณะของมลพิษที่ปล่อยจากการเผาชีวมวลในพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดของการเผา ซึ่งทางโครงการต้องการความร่วมมือจากนักวิจัยท้องถิ่นเพื่อสร้างเครือข่าย และศึกษาวิจัยร่วมกันในประเด็นดังกล่าว เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบ และการวางแผนแก้ปัญหาในอนาคต โดยมีการดำเนินการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในภาคเหนือทั้งสองสถานี ทั้งสองสถานีมีการตรวจวัดปริมาณฝุ่นทั้ง PM2.5 และ PM10 ด้วยเครื่องมือ DustDetec ซึ่งเป็นการตรวจวัดแบบ real time และมีการเก็บตัวอย่างฝุ่นรายวัน (24ชั่วโมง) ด้วยเครื่องมือหลายแบบ ซึ่งมีอัตราการเก็บฝุ่นที่แตกต่างกันไป ได้แก่ Mini volume air sampler (5 L/min), Low volume air sampler (16.7 L/min) และ High volume air sampler (1,000 L/min) โดยกระดาษกรองที่ใช้เก็บตัวอย่างฝุ่นในแต่ละวันจะถูกนำไปหาปริมาณฝุ่นรายวัน และวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปประเมินความเป็นพิษของฝุ่นในอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพต่อไป และนอกจากนี้ ทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาอุปกรณ์วัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศและหมอกควันที่มีราคาถูกและมีขนาดเล็ก ที่คนทั่วไปสามารถซื้อใช้เองได้ในอนาคตอันใกล้นี้

โครงการวิจัยดังกล่าว นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหมอกควันรูปแบบใหม่อย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่แค่การเก็บข้อมูลปริมาณหมอกควันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการนำตัวอย่างฝุ่นควันที่ได้ไปศึกษาวิจัยอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์เจาะลึกถึงผลกระทบที่แท้จริงที่มีต่อสุขภาพของประชาชน และรายงานผลอย่างตรงไปตรงมา ก่อนจะนำไปสู่การวางแผนเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตรวิจัยทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการช่วยป้องกันวิกฤตการณ์หมอกควันในอนาคต และช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
 www.facebook.com/cmu.ccdc และ http://www.cmuccdc.org/ 

 


วันที่ : 31 มี.ค. 2017





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว